ความเป็นมาที่ผู้ชายมุสลิมสามารถมีภริยาได้ 4 คนตามกฎหมายของหลายประเทศ

ความจริงในปัจจุบันหลายสังคมทั่วโลกการที่ผู้ชายมีภริยาได้หลายคนนั้นมักเป็นเรื่องข้อยกเว้นจะมีเฉพาะ แต่ในกลุ่มคนส่วนน้อยที่มีฐานะความเป็นอยู่มีเงินทองเหลือเฟือฟายและสังคมยอมรับได้ เป็นการทั่วไปผู้ชายส่วนใหญ่มักจะมีภริยาเพียงคนเดียวหรือทีละคนด้วยข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและสังคม

นี่คือเราพูดถึงตำแหน่งภริยาอย่างเป็นทางการนะครับ เราไม่นับกิ๊ก ชู้ เมียน้อย บ้านเล็ก เด็ก น้อง หรือชื่อเรียกใครก็ตามที่ผู้ชายจะสรรหามาสถาปนาผู้หญิงที่มีความสัมพันธ์นอกสมรสกับตัวเอง

ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ชาวไทยมุสลิมได้รับสิทธิพิเศษตามกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก หรือ “พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489”
ทำให้ชาวไทยมุสลิมในพื้นที่นี้สามารถแต่งงานหรือหย่าร้างกันได้ โดยไม่ต้องไปทำธุรกรรมจดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนหย่าในที่ว่าการอำเภอหรือจังหวัด ขอเพียงมีผู้นำศาสนาอิสลามในชุมชนหรือคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเห็นด้วยแล้วออกใบอนุญาตให้ก็เพียงพอแล้ว

พูดง่ายๆ ว่าผู้ชายไทยมุสลิมในเขต 4 จังหวัดดังกล่าวสามารถมีภริยาได้ถึง 4 คนในเวลาเดียวกันตามกฎหมายนั่นเอง

แต่บรรดาผู้ชายมุสลิมที่ผู้เขียนรู้จักคุ้นเคยดีไม่มีสักคนเดียวเลยที่มีภริยาเกินกว่า 1 คนเมื่อผู้เขียนถามในเรื่องนี้ก็ได้คำตอบคล้ายๆ กัน คือ “มีเมียคนเดียวก็จะแย่อยู่แล้ว ไม่รู้ว่าจะหาเรื่องยุ่งยากใส่ตัวไปทำไม” ซึ่งเป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจมาก
เพราะเรากำลังพูดถึงผู้หญิงที่มีฐานะเป็นภริยาอย่างเป็นทางการ ศาสนารับรู้ สังคมรับรู้ เพราะในศาสนาอิสลาม กิ๊ก เมียน้อย เมียเก็บ บ้านเล็ก เด็กไซด์ไลน์ เหล่านี้เป็นสิ่งต้องห้ามนะครับ เป็นความผิด เป็นบาป

เวลาที่เค้าใช้คำว่า ภริยา หมายถึงภริยาจริงๆ และความรับผิดชอบทุกสิ่งอย่างที่ตามมากับสถานะความเป็นภริยานั้น

ประวัติความเป็นมาที่ผู้ชายมุสลิมสามารถมีภริยาได้ 4 คน อย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้นเกิดขึ้นในสมัยเมื่อศาสดามะหะหมัดยังมีชีวิตอยู่ท่านเห็นว่าบรรดาผู้ชายอาหรับต้องทำหน้าที่ออกรบและล้มตายไปเป็นจำนวนมากทิ้งให้ภริยาต้องเป็นหม้ายไม่มีใครคอยปกปักดูแลความปลอดภัย

ศาสดาจึงบัญญัติให้ผู้ชายมุสลิมสามารถมีภริยาได้ถึง 4 คนเพื่อช่วยเหลือดูแลหญิงหม้ายเหล่านี้แต่ศาสดาได้บัญญัติไว้ในพระคัมภีร์อัลกุรอาน บทอันนิซาอ์ โองการที่ 3 ได้ระบุไว้ว่า “จงแต่งงานกับผู้ที่ดีแก่พวกเจ้า ในหมู่สตรี 2 คน หรือ 3 คน หรือ 4 คน แต่ถ้าพวกเจ้าเกรงว่าพวกเจ้าจะให้ความยุติธรรมไม่ได้ ก็จงมีแต่หญิงเดียว”

AFP PHOTO/TEH ENG KOON TEH ENG KOONกลมเกลียว: นางซาเวียห์ อิสมาอิล ภรรยาอายุน้อยที่สุด (ซ้ายสุด) หอมแก้มนายมอคตาร์ ซาหมัด (กลางซ้าย) ขณะนางลาติปาห์ ชัมซูดิน (กลางขวา) และนางโนรัสนี จัฟฟาร์ (ขวาสุด) ยิ้มอยู่ใกล้กัน ภายในบ้านพักนอกกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2549

ในทางปฏิบัติก็คือ “หากคิดจะมีภรรยามากกว่าหนึ่ง สามีต้องให้ความเสมอภาคแก่ภรรยาทุกคนได้ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่าย เสื้อผ้า การร่วมหลับนอน และในเรื่องที่เป็นความต้องการจากปัจจัยยังชีพที่จำเป็น”

ดังนั้นจึงเป็นภาระหนักแก่ฝ่ายชายนะครับ เพราะความหมายของพระคัมภีร์อัลกุรอาน บทอันนิซาอ์โองการที่ 3 ดังกล่าวข้างต้นว่า การมีภริยาหลายคนนั้นแม้จะเป็นที่อนุญาต

แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขและขอบเขตที่เข้มงวด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมในขณะที่การมีภริยาคนเดียวเป็นเรื่องที่ศาสนาอิสลามส่งเสริมมากที่สุด ด้วยเหตุผลที่ว่าการจะให้ความยุติธรรมเท่าเทียมแก่ภริยาทั้งหมดในทุกๆ แง่มุมเป็นเรื่องที่ปฏิบัติยาก เพราะหลักการที่จะมีภริยาคนที่ 2 ภริยาคนที่ 3 หรือภริยาคนที่ 4 ก็ต้องกระทำตามหลักศาสนาอิสลามอย่างที่กระทำกับภริยาคนที่ 1

กล่าวคือ ต้องมีการสู่ขอ มีพิธีแต่งงาน (นิกะฮ์) อย่างถูกต้องตามหลักการศาสนา ภริยาคนที่ 2 ภริยาคนที่ 3 หรือภริยาคนที่ 4 ต้องได้รับสิทธิจากสามีอย่างเท่าเทียมกับภรรยาคนที่ 1 บุตรที่เกิดมาจากภริยาทุกคน ก็คือบุตรของสามีทุกคนมีการใช้นามสกุลบิดา มีการอบรมสั่งสอน การส่งบุตร เล่าเรียน รวมถึงค่าเลี้ยงดู (นะฟาเกาะฮ์) การแบ่งเวรในแต่ละวันให้แก่ภริยาแต่ละคน การออกงานสู่สังคม การใช้ชีวิตเยี่ยงสามีภริยา ฯลฯ
เรื่องอย่างนี้ทั้งหมดสามีต้องแบ่งสรรให้เท่าเทียมกัน ด้วยเหตุนี้ ในโลกมุสลิมจึงไม่มีคำว่า “เมียน้อย” หรือ “เมียหลวง” เพราะทุกคนมีสถานะภริยาเท่าเทียมกันทุกคน

บทสรุป คือ ภริยาของชายมุสลิมไม่มี เมียหลวง เมียน้อย เมียแบบเพื่อนเที่ยว เมียออกงาน เมียนอกบ้านหรือกิ๊ก ดังนั้นสตรีแต่ละคนจึงเท่าเทียมกัน ทรัพย์สินของสามี ผู้เป็นลูกก็มีสิทธิ์เท่าเทียมกันด้วยนั้นเอง

นี่คือความยุติธรรมที่ศาสนาอิสลามกำหนดมาสำหรับผู้ที่คิดจะมีภริยามากกว่า 1 คน และผู้ชายมุสลิมผู้คิดจะมีภริยามากกว่า 1 คนนั้น จำเป็นจะต้องคิดให้หนักว่าให้ความยุติธรรมแก่ภริยาและบุตรทุกคนอย่างเท่าเทียมกันได้หรือไม่? จึงเป็นผลให้สังคมอิสลามโดยทั่วไปจึงเป็นสังคมผัวเดียวเมียเดียวในทุกสังคมจะมีเพียงส่วนน้อยมากที่จะมีผู้ชายมุสลิมผู้มั่งคั่งมีเงินทองเหลือเฟือที่สามารถมีภริยาได้ถึง 4 คน