ช็อกวงการ ครอบครัวแถลง “บรูซ วิลลิส” ยุติบทบาทนักแสดง เหตุป่วยโรคอะเฟเซีย

บรูซ วิลลิส ดาราฮอลลีวูดชื่อดัง วัย 67 ปี ประกาศยุติอาชีพนักแสดง หลังได้รับการวินิจฉัยว่า กำลังป่วยโรคอะเฟเซีย (Aphasia) หรือ ภาวะสูญเสียการสื่อความ 

ครอบครัวของ บรูซ วิลลิส นักแสดงรุ่นใหญ่ของฮอลลีวูด วัย 67 ปี ได้ออกแถลงการณ์ผ่านอินสตาแกรม เปิดเผยว่า พระเอกชื่อดังกำลังป่วยโรคอะเฟเซีย (Aphasia) หรือภาวะสูญเสียการสื่อความ ซึ่งทำให้เขาต้องยุติบทบาทการเป็นนักแสดง

“ถึงแฟนๆ ที่สนับสนุนและรัก บรูซ วิลลิส ทุกคน พวกเราในฐานะครอบครัวของบรูซ ต้องแจ้งข่าวให้ทุกคนได้ทราบว่า บรูซกำลังเผชิญหน้ากับอยู่กับปัญหาทางด้านสุขภาพ โดยเพิ่งได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่ามีความบกพร่องทางสมอง ที่ส่งผลต่อการรับรู้และความสามารถในการสื่อสารของบรูซ

ด้วยเหตุนี้และด้วยการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ถึงแก่เวลาที่บรูซจะก้าวออกจากอาชีพนักแสดงที่มีความหมายต่อเขาอย่างมาก

นี่เป็นช่วงเวลาที่ท้าทายสำหรับครอบครัวของเราเป็นอย่างมาก เรารู้สึกซาบซึ้งกับความรักและกำลังใจที่ทุกคนส่งมาให้ รวมทั้งแรงสนับสนุนของพวกคุณที่ดีเสมอมา เรากำลังจะก้าวผ่านสิ่งนี้ไปด้วยกันทั้งครอบครัว

และเราต้องการให้แฟนๆ ได้รับรู้และเป็นส่วนหนึ่งกับเหตุการณ์นี้ เพราะพวกคุณมีความหมายสำหรับบรูซ และพ่อก็มีความหมายกับพวกคุณเช่นเดียวกัน อย่างที่บรูซเคยพูดเสมอว่า “จงใช้ชีวิตให้คุ้มซะ” และตอนนี้เรากำลังวางแผนจะร่วมกันทำเช่นนั้นให้กับเขาในอนาคต”

ข้อความดังกล่าวเป็นแถลงการณ์ร่วมของสมาชิกครอบครัว ได้แก่ เอมมา เฮมมิง วิลลิส ภรรยาคนปัจจุบัน และนักแสดงชื่อดัง เดมี มัวร์ อดีตภรรยา พร้อมด้วยลูกๆ ทั้ง 5 คน ได้แก่ รูเมอร์ สกอต ทอลลูลาห์ เมเบิล และอีฟลีน

สำหรับ บรูซ วิลลิส เริ่มต้นอาชีพนักแสดงในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 จากการแสดงเป็นตัวประกอบเล็กๆ ในหนังเรื่อง The Verdict ก่อนจะโด่งดังจากหนังแอคชั่น Die Hard หรือ คนอึดตายยาก ภาคแรกในปี ค.ศ. 1988 ซึ่งเป็นหนังแฟรนไชส์ที่กลายเป็นภาพลักษณ์ติดตัวเขามาตลอด

บรูซ วิลลิส มีผลงานการแสดงมากว่า 4 ทศวรรษ และมีหนังทำเงินในเครดิตของเขาไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านเหรียญ เขาเคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ 5 ครั้ง โดยชนะ 1 ครั้ง จากบทบาทในซีรีส์ Moonlighting และคว้ารางวัลเอมมี อวอร์ด 2 ครั้ง จากการได้รับเสนอชื่อ 3 ครั้ง แต่ยังไม่เคยมีโอกาสได้เข้าชิงรางวัลออสการ์

ทั้งนี้ ตามข้อมูลจากสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ของสหราชอาณาจักร ภาวะสูญเสียการสื่อความ มักมีสาเหตุจากความเสียหายในสมองซีกซ้าย ทำให้นึกภาษาหรือคำพูดได้ลำบาก กระทบต่อการ อ่าน, ฟัง, พูด, พิมพ์ หรือเขียน ของผู้ป่วย โดยอาการที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ปัญหาทางการพูด รวมถึงการประสมคำไม่ถูกต้อง