ดับฝันสายมู นักวิทยาศาสตร์เฉลยแล้ว “มัมมี่นางเงือก” ไม่ใช่ซากสัตว์ในตำนาน

ในที่สุดความลึกลับเก่าแก่นับศตวรรษ เบื้องหลัง “มัมมี่นางเงือก” ได้รับการไขความจริงให้กระจ่างโดยนักวิทยาศาสตร์ ชี้ว่าไม่ใช่ซากสัตว์ในตำนาน แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น

ซากมัมมี่นางเงือก ขนาด 12 นิ้ว มีใบหน้าบูดบึ้ง ฟันแหลม มีสองมือ และมีขนบนหัวและคิ้ว ทำให้มีรูปร่างหน้าตาคล้ายมนุษย์ ยกเว้นท่อนล่างที่เหมือนปลา ถูกพบในมหาสมุทรแปซิฟิก นอกเกาะชิโกกุ ของประเทศญี่ปุ่น ระหว่างปี 1736-1741 มันถูกเก็บไว้ในวัดในเมืองอาซาคุจิ เป็นเวลาประมาณ 40 ปี

ชาวบ้านบางส่วนบูชาสิ่งมีชีวิตลึกลับมานานหลายปี เชื่อว่ามันมอบความเป็นอมตะให้กับทุกคนที่ได้ลิ้มรสเนื้อของมัน โดยบาดหลวงที่วัดยังเคยกล่าวกับหนังสือพิมพ์ The Asahi ว่าพวกเขาบูชามันด้วยความหวังว่า “จะช่วยบรรเทาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา”

แต่ปีที่แล้ว นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Kurashiki University of Science & The Arts ได้นำซากมัมมี่นางเงือก ไปทดสอบและทำ CT scan เพื่อไขความลับของมัน และตอนนี้พวกเขาได้ค้นพบว่าสิ่งนี้ถูก “ประดิษฐ์” ขึ้นในช่วงปลายปี 1800

นักวิจัยเชื่อว่ามีคนที่สร้างมันขึ้นมาในสมัยเอโดะ ซึ่งเป็นยุคของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1603-1867 โดยไม่มีหลักฐานของโครงกระดูก แต่พบว่าถูกทำมาจากกระดาษและผ้าฝ้าย ครึ่งล่างของร่างกายมาจากหางของปลา กรามและฟันของมันถูกนำมาจากปลา และขนบนหัวของมันแต่เดิมเคยเป็นขนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีตำนานเชื่อว่านางเงือกคือสัญลักษณ์แห่งความเป็นอมตะ ว่ากันว่าถ้ากินเนื้อนางเงือกแล้วจะไม่มีวันตาย มีตำนานเล่าขานในหลายพื้นที่ของญี่ปุ่นว่าผู้หญิงคนหนึ่งเผลอกินเนื้อนางเงือกเข้าไป ทำให้มีอายุยืนยาวถึง 800 ปี และตำนานนี้ยังได้รับการอนุรักษ์ไว้ในแถบใกล้กับวัดที่พบมัมมี่นางเงือกอีกด้วย