สำหรับพื้นที่พิพาทในทะเลจีนตะวันออก คือ หมู่เกาะเซนกากุในภาษาญี่ปุ่น หรือเตียวหยู ในภาษาจีน ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของโอกินาวาและอยู่ทางตะวันออกของจีน ซึ่งจากประวัติศาสตร์หมู่เกาะเล็กๆ แห่งนี้ ถือเป็นแนวชายแดนของจีนที่ใช้ป้องกันโจรสลัดญี่ปุ่น จนกระทั่งจีนพ่ายแพ้ในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 1 ปี 2438 หมู่เกาะนี้จึงตกเป็นของญี่ปุ่นตามสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ

ครั้นญี่ปุ่นแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 หมู่เกาะนี้จึงตกเป็นเป็นของสหรัฐอเมริกาและเมื่อสหรัฐอเมริกาให้เอกราชแก่ญี่ปุ่นแล้วก็คืนหมู่เกาะเซนกากุให้ด้วย แต่เนื่องจากหมู่เกาะแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณเส้นทางเดินเรือที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของโลกและอาจจะมีแหล่งน้ำมันใต้ทะเลทำให้จีนอ้างกรรมสิทธิดั้งเดิม ว่าหมู่เกาะแห่งนี้ไม่ควรเป็นของญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นของจีนมาก่อน ซึ่งก็มีปัญหากระทบกระทั่งกันมาโดยตลอดระหว่างเรือรบกับเรือประมงของทั้ง 2 ประเทศนี้

ส่วนทะเลจีนใต้ มีหมู่เกาะทะเลจีนใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกาะ มีจำนวนหลายร้อยเกาะ ทะเลและเกาะที่ไม่มีผู้คนอยู่อาศัยส่วนใหญ่นี้เป็นหัวข้อพิพาทอธิปไตยโดยหลายประเทศ โดยมีหลายประเทศที่ต่างอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ทะเลจีนใต้ ทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไนและไต้หวันด้วย จึงเกิดมีการปะทะกันประปรายระหว่างจีนกับเวียดนามและจีนกับฟิลิปปินส์ 

ในช่วงที่ผ่านมา จีนได้สร้างเกาะเทียมและลาดตระเวนทางทะเลเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่ในทะเลจีนใต้ ขณะที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ได้มีข้อพิพาทเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้ แต่ได้อ้างเรื่อง “เสรีภาพในการเดินเรือ” ในการส่งเรือและเครื่องบินของทหารหลายลำเข้ามาใกล้กับบริเวณเกาะพิพาทในทะเลจีนใต้ เพื่อสร้างความมั่นใจว่า สามารถเข้าถึงเส้นทางการขนส่งสินค้าทั้งทางน้ำและทางอากาศที่สำคัญได้

ทะเลจีนใต้มีเนื้อที่ใหญ่กว่าทะเลจีนตะวันออกถึงสี่เท่าเศษคือมีพื้นที่ประมาณ 3,500,000 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ดังกล่าวเป็นเส้นทางขนส่งทางเรือที่สำคัญของโลก โดยมีเรือบรรทุกสินค้าผ่านคิดเป็นอัตราหนึ่งในสามของโลก นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อกันว่าใต้พื้นทะเลมีน้ำมันและแก๊สธรรมชาติสำรองขนาดใหญ่อีกด้วย ซึ่งเป็นต้นเหตุของกรณีพิพาททั้งปวงในทะเลจีนใต้นั่นเอง

เมื่อเดือนตุลาคม 2563 รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศจากอินเดีย สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลียได้เข้าร่วมประชุม “เดอะ ควอด” (The QUAD – Quadrilateral Security Dialogue) ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะแห่งญี่ปุ่นต้องการร่วมมือกับชาติพันธมิตรในการรับมือกับจีน แบบว่าหาพวกเพื่อคานอำนาจจีน ที่วิตกว่าจีนจะคุกคามญี่ปุ่นในอนาคต โดยนายอาเบะได้เริ่มกล่าวถึง แนวทางในการสร้างความร่วมมือระหว่างพื้นที่ 2 มหาสมุทรคือมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกโดยเน้นย้ำถึงความสำคัญเกี่ยวกับความร่วมมือดังกล่าวในรัฐสภาของอินเดียตั้งแต่ปี 2550 จนกลายเป็นที่มาสำคัญของแนวความคิดว่าด้วย “อินโด-แปซิฟิก” ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายจนถึงทุกวันนี้ 

เนื่องจากทั้ง 4 ประเทศต่างได้รับผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เช่นปัญหาสงครามการค้าจีน-สหรัฐอเมริกา ปัญหาข้อพิพาทหมู่เกาะระหว่างจีน-ญี่ปุ่น ความขัดแย้งเหนือชายแดนหิมาลัยตลอดแนวของจีน-อินเดีย รวมถึงข้อพิพาทจีน-ออสเตรเลียในประเด็นเรื่องโควิด-19 จนลุกลามกลายเป็นการกดดันกันทางเศรษฐกิจ

ทั้ง 4 ประเทศก็ได้มีการพูดคุยประเด็นความมั่นคงภายในภูมิภาค “อินโด-แปซิฟิก” มาอย่างต่อเนื่อง จนถูกมองว่าเป็นกรอบความร่วมมือที่ใช้ในการปิดล้อมจีน และนับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาจนกระทั่งเกิดมีการประชุมเดอะควอดเมื่อเดือนตุลาคม 2563 ซึ่งส่งผลให้อินเดียตัดสินใจให้ออสเตรเลียเข้าร่วมการซ้อมรบทางทะเลมาลาบาร์ (Malabar Naval Exercise) เป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งเดิมเป็นการซ้อมรบทางทะเลแบบไตรภาคีระหว่างอินเดีย-สหรัฐอเมริกา-ญี่ปุ่น ทำให้การซ้อมรบครั้งใหม่นี้เป็นการซ้อมรบทางการทหารที่ประเทศสมาชิกเดอะควอดทำการฝึกร่วมกันเป็นครั้งแรก จึงเป็นเป็นไปได้ที่ว่าต่อไปจะมีการร่วมมือทางการทหารรูปแบบอื่นๆ ต่อไปอีก 

ครับ! ตอนนี้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยิ่งกระตือรือร้นในเรื่องภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมากกว่าใครๆ เสียอีกเพราะเพียง 5 เดือนที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา ก็ได้มีการชักชวน คานาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนีเข้าร่วมการซ้อมรบทางทะเลและซ้อมความช่วยเหลือภัยพิบัติทางทะเลกับสมาชิกของเดอะควอดเรียบร้อยแล้วโดยสหรัฐอเมริกาส่งเรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำร่องเข้ามาแล่นผ่านช่องแคบไต้หวันในทะเลจีนใต้มากถึง 7 ครั้ง โดยครั้งที่ 7 ทำเมื่อกรกฎาคมเดือนที่แล้วนี่เอง

นอกจากนี้กองกำลังเรือบรรทุกอากาศยานที่นำโดยเรือบรรทุกเครื่องบินเอชเอ็มเอส ควีนเอลิซาเบธกำลังเดินทางไปยังทะเลจีนใต้แถม เมื่อวันจันทร์ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมันไปทำพิธีปล่อยเรือฟรีเกต 1 ลำที่มีตอร์ปิโดต่อต้านเรือดำน้ำมากถึง 46 ลูก ติดตั้งขีปนาวุธต่อต้านเรือและอาวุธต่อต้านอากาศยานอย่างพร้อมเพรียงออกจากท่าเรือวิลเฮมส์ฮาเฟิน โดยมีจุดหมายปลายทางที่จะแล่นผ่านอินโด-แปซิฟิกไปยังทะเลจีนใต้ ดูดุจว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนจะถูกล้อมเสียแล้ว