ทหารเมียนมาสั่งยุบพรรคอองซานซูจี! อ้างฝืนกฎหมายใหม่ ตะวันตก-ญี่ปุ่นสวดยับ

กองทัพเมียนมาประกาศผ่านสถานีโทรทัศน์ที่กองทัพควบคุมเมื่อวันอังคาร (28 มี.ค.) ว่ามีคำสั่งให้ยุบพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางอองซานซูจี และพรรคอื่นๆ รวม 40 พรรค โดยอ้างว่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่

กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้พรรคการเมืองระดับชาติทุกพรรคจะต้องมีหาสมาชิกพรรคให้ครบ 100,000 คนภายใน 90 วันของการลงทะเบียนเลือกตั้ง ซึ่งมากกว่ากฎหมายเดิมที่กำหนดไว้เพียง 1,000 คน

ไม่ใช่แค่นั้น แต่ละพรรคการเมืองจะต้องเปิดสำนักงานสาขาพรรคเกินครึ่งหนึ่งของ 330 อำเภอทั่วประเทศ ภายใน 180 วัน และจะต้องส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งลงเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนเขตเลือกคั้งทั้งประเทศ ทั้งยังต้องมีทุนจัดตั้งพรรคการเมืองเกิน 100 ล้านจ๊าด (1.63 ล้านบาท)

กฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่นี้มีกำหนดจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองเมื่อวันอังคาร (28 มี.ค.) เป็นวันสุดท้าย

ตะวันตก-ญี่ปุ่นประณาม

ด้านสหรัฐ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ต่างประณามต่อการยุบ 40 พรรคการเมืองดังกล่าว โดยเฉพาะพรรคเอ็นแอลดี

นายเวแดนต์ แพเทล รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า

“การเลือกตั้งโดยไม่มีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มในพม่า จะไม่ใช่และไม่อาจพิจารณาได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม” นายแพเทล กล่าวถึงเมียนมาโดยใช้ชื่อเก่า

ด้านกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ออกแถลงการณ์ว่ากระทรวงกังวลต่อการกีดกันพรรคเอ็นแอลดีออกจากกระบวนการทางการเมือง เพราะอาจทำให้สถานการณ์ไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงไปอีก

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ระบุว่า การยุบพรรคการเมืองเหล่านี้เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนชาวเมียนมา

“เราประณามการกระทำที่มีแรงจูงใจทางการเมืองครั้งนี้และการใช้วิธีการที่รุนแรงขึ้นเพื่อสร้างความกลัวและขู่เข็ญผู้เห็นต่างของกองทัพเมียนมา” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร กล่าว

ย้อนรัฐประหารปี 64

การเมืองในเมียนมาส่อเค้าวุ่นวายรอบใหม่มาตั้งแต่หลังการเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2563 ที่พรรคเอ็นแอลดีได้รับการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายอีกครั้ง ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเหตุนี้อาจสร้างความกังวลให้กองทัพว่าจะมากจนแก้รัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจกองทัพได้

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 กองทัพจึงตัดสินใจก่อรัฐประหารและชู พลเอกอาวุโส มิน เอ่า หล่าย เป็นผู้นำของคณะยึดอำนาจ และทำร้ายประชาชนที่ชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร จนผู้ไม่เห็นด้วยส่วนหนึ่งตัดสินใจจับอาวุธและตั้งกองกำลังต่อต้านทหารเมียนมาขึ้นมา บางส่วนก็เข้าร่วมกับกองกำลังของคนพื้นถิ่นกลุ่มต่างๆ ที่ต่อสู้กับกองทัพเมียนมาอยู่แล้วมาหลายสิบปี