ธงรุ้งโบกสะบัดอีกครั้งกลางกรุงโซลรอบ 2 ปี ขณะกลุ่มอนุรักษ์นิยมออกโรงต้าน

คณะกรรมการจัดงาน Seoul Queer Culture Festival จัดงานเดินขบวนส่งเสริมสิทธิของกลุ่มคนเพศหลากหลาย Seoul Queer Parade ครั้งที่ 23 เมื่อวันเสาร์ (16 ก.ค.) ที่ลาน Seoul Plaza ใกล้กับสถานี City Hall (ศาลากลาง) ใจกลางกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ หลังจากถูกเลื่อนมาตั้งแต่ปี 2020 เนื่องจากการระบาดของโควิด-19

การจัดงานในครั้งนี้มีองค์กรและภาคประชาสังคมต่างๆ อาทิ สถานทูตสหรัฐ, กลุ่มองค์กรศาสนา, ภาคเอกชน, และกลุ่มองค์กรส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ มาร่วมออกบูธถึง 80 บูธ มีการแสดงและการเดินขบวนพาเหรดไปรอบตัวเมืองเป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร ได้รับความสนใจจากประชาชนโดยทั่วไปมาร่วมขบวน โดยเฉพาะ กลุ่มคนรุ่นใหม่ และชาวต่างชาติ

อรรถชัย หาดอ้าน / Newsตัวแทนกลุ่มประเทศยุโรปเหนือที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิคนเพศหลากหลาย ออกบูธในงาน Seoul Queer Parade ที่กรุงโซล ของเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2565

แต่ระหว่างการเคลื่อนขบวนพาเหรดในเวลา 16.00 น. มีฝนตกลงมาอย่างหนักทำให้เป็นอุปสรรคในการเคลื่อนขบวนและจัดงานพอสมควร แต่งานก็ยังคงดำเนินต่อไปจนถึงเวลาประมาณ 19.00 น.

ทีมข่าว พูดคุยกับ เจย์ หนึ่งในคณะกรรมการจัดงาน เล่าว่างานนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Live On, Stand Together, Go Onward” (ใช้ชีวิต เคียงข้างกัน ไปข้างหน้า) เพื่อสร้างการรับรู้ให้สังคม และสร้างพื้นที่ให้กับคนทุกกลุ่มอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะมีรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศ หรือสรีระทางเพศ (SOGIESC) อย่างไร รวมทั้งสนับสนุนร่างกฎหมายการเลือกปฏิบัติทางเพศ (Anti-discrimination Law)

เธอเล่าว่าเริ่มแรกจะเป็นกลุ่มเล็กๆ จัดงานทุกช่วงฤดูร้อน เดินถือธงรอบเมือง และประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดีย แต่ด้วยโควิดที่ทำให้ต้องหยุดจัดงาน กลับมาจัดอีกครั้งปีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งที่มีคนมาร่วมงานเยอะที่สุดเท่าที่จัดมา

อรรถชัย หาดอ้าน / Newsคณะกรรมการจัดงาน Seoul Queer Parade ถ่ายรูปร่วมกันในกรุงโซล ของเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2565

อย่างไรก็ตามเธอยอมรับว่า ภายใต้การนำของรัฐบาลและนายกเทศมนตรีกรุงโซลที่มาจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม ทำให้การทำเรื่องขอใช้พื้นที่ลาน Seoul Plaza ยากขึ้นจากปกติที่ใช้เวลาไม่กี่วัน ต้องใช้เวลาเป็นเดือนและยื่นเอกสารขอให้พื้นที่หลายครั้ง ขณะเดียวกันก็ยังมีกลุ่มคนที่ออกมาต่อต้าน ซึ่งเธอเชื่อว่าสักวันหนึ่งพวกเขาจะเข้าใจเรื่องความหลากหลายและเปิดใจยอมรับมากขึ้น

“ทุกวันนี้การเลือกปฏิบัติยังคงเกิดขึ้น พวกเรามีประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ยาวนานและเจ็บปวด แต่พวกเราไม่ยอมแพ้” เจย์กล่าว

อรรถชัย หาดอ้าน / Newsบรรยากาศภายในงาน Seoul Queer Parade ในกรุงโซล ของเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2565

กลุ่มอนุรักษ์นิยมไม่พอใจ! เดินขบวนต้าน

ขณะเดียวกันก็มีขบวนพาเหรดคัดค้านกลุ่มเพศหลากหลายที่นำโดยกลุ่ม Love Is Plus (เลิฟอิสพลัส) ชูป้ายคัดค้านร่างกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางเพศ เพื่อต่อต้านคนรักเพศเดียวกันที่เดินขบวนตรงข้าม เริ่มต้นจากทางสถานี City Hall มุ่งหน้าไปยังสถานีโซล ซึ่งเป็นกลุ่มครอบครัว กลุ่มศาสนา และกลุ่มการศึกษา มาร่วมเป็นส่วนใหญ่

อรรถชัย หาดอ้าน / Newsไม่เอาความเท่าเทียม: สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์นิยมถือป้ายคัดค้านกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางเพศ ในกรุงโซล ของเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2565อรรถชัย หาดอ้าน / Newsกันปะทะ: ตำรวจกรุงโซลตั้งแถวเป็นแนวกั้นระหว่างผู้สนับสนุนสิทธิ LGBTQ+ และกลุ่มอนุรักษ์นิยม ที่ทำกิจกรรมคนละฝั่งถนน ในกรุงโซล ของเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2565