นักวิทย์ยืนยันแล้ว “ไดโนเสาร์คอยาว” คือเจ้าของฟอสซิลรอยเท้ากลางร้านอาหารเสฉวน

สำนักข่าวซินหัว รายงานกรณีคณะนักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าฟอสซิลรอยเท้าไดโนเสาร์ที่ค้นพบภายในร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองเล่อซาน มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเมื่อปี 2022 เป็นรอยเท้าของไดโนเสาร์คอยาวที่เคยอาศัยอยู่บนโลกเมื่อประมาณ 100 ล้านปีก่อน

ฟอสซิลดังกล่าวถือเป็นการค้นพบที่ไม่เคยมีมาก่อนและได้รับความสนใจจากทั่วโลกเนื่องจากอยู่ในสถานที่ที่ไม่น่าเป็นไปได้ โดยขณะนี้ทีมนักบรรพชีวินวิทยานานาชาติได้เผยแพร่การค้นพบนี้ในวารสารครีเทเชียส รีเสิร์ช (Cretaceous Research) ฉบับล่าสุด หลังจากมีการใช้เครื่องสแกน 3 มิติ เพื่อวิเคราะห์ “รอยเท้าไดโนเสาร์ในร้านอาหาร”

ทีมผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่ารอยเท้าที่มีความยาวตั้งแต่ 50-60 เซนติเมตร อาจเป็นรอยเท้าของไดโนเสาร์ซอโรพอด (sauropod) ลำตัวยาว 8-10 เมตร ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยอาศัยบนบก มีหัวขนาดเล็ก คอยาว และหางยาว ทว่าสิ่งมีชีวิตขนาดมหึมาชนิดนี้กลับมีก้าวเดินที่สั้นมาก และเดินด้วยความเร็ว 2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

การค้นพบอันน่าประหลาดใจนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2022 “โอวหงเทา” ลูกค้าร้านอาหารคนหนึ่ง สังเกตเห็นหลุมตื้นแปลกตาบนพื้นลาน ซึ่งผู้ที่สนใจด้านบรรพชีวินวิทยาอย่างโอวสันนิษฐานว่าร่องรอยดังกล่าวเป็นรอยเท้าไดโนเสาร์ จึงติดต่อสิงลี่ต๋า รองศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน ซึ่งกลายเป็นผู้เขียนคนแรกของงานวิจัยนี้ในเวลาต่อมา

สิงได้นำทีมนักวิจัยเข้าตรวจสอบสถานที่ดังกล่าว ซึ่งอยู่ห่างจากพระใหญ่เล่อซาน พระพุทธรูปแกะสลักริมผาขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเพียง 5 กิโลเมตร โดยเธอระบุว่า “หลุมตื้น” ถูกพบตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 แต่เจ้าของบ้านตอนนั้นปิดมันไว้เพื่อทำให้พื้นเรียบ ก่อนที่เจ้าของใหม่เปลี่ยนสถานที่เป็นร้านอาหารเมื่อสามปีก่อน นำสู่การพบหลุมต่างๆ อีกครั้ง

อย่างไรก็ดี หลุมตื้นนี้ดูไม่มีอะไรผิดปกติจนกระทั่งลูกค้าช่างสังเกตอย่างโอวเสนอว่าร่องรอยเหล่านี้อาจเป็นอะไรที่มากกว่าเพียงหลุมบนพื้น

แอนโธนี โรมิลิโอ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ และสมาชิกทีมวิจัยนานาชาติ กล่าวว่าไม่มีใครสังเกตเห็นรอยเท้าซอโรพอดดังกล่าวมาเป็นเวลานานแล้ว แต่เมื่อคุณรู้ว่ามันคืออะไร ก็ยากที่จะมองไม่เห็นอีก

โรมิลิโอเปิดเผยว่าภูมิภาคแห่งนี้ไม่มีบันทึกโครงกระดูกของไดโนเสาร์ ร่องรอยฟอสซิลจึงส่งมอบข้อมูลที่มีค่าเกี่ยวกับไดโนเสาร์ที่ออกเดินอยู่ในพื้นที่ พร้อมเน้นย้ำความสำคัญของผู้คนทั่วไปที่อาจมีส่วนร่วมในการค้นพบทางวิทยาศาสตร์สุดล้ำค่า

“สำหรับใครที่โชคดี บางครั้งการค้นพบอาจมาจากสถานที่ที่ไม่น่าเป็นไปได้ แม้แต่ในตอนที่คุณกำลังหาอะไรกินอยู่”