ตลอดระยะเวลาร่วม 20 ปีที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินครองอำนาจสูงสุดในรัสเซียนั้น เขาได้ทำสงครามที่ประสบชัยชนะแบบง่ายๆ มาโดยตลอด ไม่ว่าการปราบปราม กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในเชเชน โดยกองทัพรัสเซียบุกเข้าไปในเชเชนทำสงครามแบบเบ็ดเสร็จจนสามารถยึดครองสาธารณรัฐเชเชนได้โดยเด็ดขาดนับเป็นการสิ้นสุดเอกราชโดยพฤตินัยของดินแดนดังกล่าวของรัสเซียในปี2542

ต่อมาปูตินก็บุกเข้าจอร์เจียทำสงคราม 5 วันก็สามารถสยบจอร์เจียได้อย่างสมบูรณ์แบบในปี 2551 และในปี 2557 ปูตินก็สามารถเข้ายึดครองและผนวกคาบสมุทรไครเมียของยูเครนได้อย่างง่ายดายโดยใช้เวลาเพียง 1 เดือน 6 วันเท่านั้น

จากความสำเร็จทางการทหารโดยง่ายดังกล่าวทำให้ปูตินมีความมั่นใจจนเกินไปในการตัดสินใจบุกทะลวงเข้าไปในยูเครนในวันพฤหัสบดีที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมานี้หลังจากมีการสะสมกำลังทหารบริเวณพรมแดนยูเครนมาเป็นเวลากว่าหนึ่งปี โดยบุกเข้ามาทางทิศตะวันออกและทางทิศใต้ของยูเครนระลอกแรก และระลอกที่สองนั้นรัสเซียได้ทำการการเคลื่อนพลเข้ายูเครนผ่านทางเบลารุสทางทิศเหนือ

ไม่กี่วันก่อนหน้าการบุกนั้น รัสเซียได้ทำการรับรองความเป็นรัฐเอกราชของสาธารณรัฐประชาชนดอแนตสก์และสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ที่ได้แยกตัวออกจากยูเครนเมื่อ 8 ปีก่อนหน้านี้ พร้อมกับขู่ประเทศสวีเดนและฟินแลนด์ไม่ให้ดำเนินการที่จะสมัครเป็นสมาชิกขององค์การนาโต้ในอนาคตเพราะรัสเซียก็จะเปิดสงครามกับทั้ง 2 ประเทศนี้เหมือนกับบุกยูเครนอย่างแน่นอน

ปรากฎว่าประชากรส่วนใหญ่ของยูเครนพร้อมที่จะสู้ตายเพื่อรักษาบ้านเกิดอย่างเด็ดเดี่ยวประกอบกับมีผู้นำที่เก่ง ฉลาดและกล้าหาญแบบนายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี อดีตนักแสดงตลกและแสดงในโทรทัศน์ซีรีส์ตลกเสียดสีเรื่อง “ผู้รับใช้ของประชาชน”

นายโวโลดิมีร์ เซเลนสกีแสดงเป็นประธานาธิบดีในเรื่องด้วย เมื่อเขาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีจริงๆ ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นเขาก็สามารถทำงานในตำแหน่งประธานาธิบดีได้อย่างดีเยี่ยมและแสดงความกล้าหาญและรับผิดชอบต่อหน้าที่อย่างน่าสรรเสริญโดยปฏิเสธข้อเสนอความช่วยเหลือที่สหรัฐอเมริกาจะหาเขาลี้ภัยออกนอกประเทศ

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีกลับต้องการอาวุธยุทโธปกรณ์ในการรบกับรัสเซียมากกว่าที่จะลี้ภัย เมื่อปูตินเตรียมทหารประมาณหนึ่งแสนเก้าหมื่นนายเพื่อบุกเข้ายึดครองเมืองหลวงกรุงเเคียฟของยูเครนซึ่งมีประชากรประมาณ 3 ล้านคนเพราะปูตินคาดว่าทหารยูเครนคงยอมวางอาวุธง่ายๆ

ปรากฎว่าไม่เป็นไปเช่นนั้น แถมประชาชนส่วนใหญ่ยังอาสาสมัครป้องกันเมืองสำคัญๆ ทุกเมืองอย่างล้นหลาม ทหารที่เตรียมมาคงไม่พอหรอกครับเพราะการสู้รบในเมืองนั้นที่หลบซุ่มลอบโจมตีมีเยอะ และอาวุธที่ใช้โดยคนๆ เดียวที่สามารถทำลายรถถังและเครื่องบินทุกชนิดก็มีอยู่ดาษดื่นทำให้แผนการที่จะยึดกรุงเคียฟภายใน 48 ชั่วโมงไม่มีทางสำเร็จ

อีกประการหนึ่งมีรถถังจำนวนไม่น้อยของรัสเซียต้องหยุดเคลื่อนไหวเพราะขาดน้ำมันแสดงว่าการบุกยูเครนครั้งนี้ทางการรัสเซียมุ่งแต่ยุทธศาสตร์ในการรบแต่ละเลยการส่งกำลังบำรุงแสดงถึงการเป็นมือสมัครเล่นมากกว่าเป็นมืออาชีพอย่างชัดแจ้ง

มิหนำซ้ำมาตรการแซงก์ชันตอบโต้การที่รัสเซียรุกรานยูเครนของกลุ่มประเทศตะวันตกคือการที่มุ่งทำให้ภาคการเงินของรัสเซียกลายเป็นอัมพาต โดยรวมถึงการปิดกั้นไม่ให้รัสเซียสามารถเข้าถึงระบบการเงินระดับโลกได้ นอกจากนั้น ยังจะเป็นครั้งแรกที่มุ่งเล่นงานธนาคารกลางของรัสเซียด้วย

การเล่นงานธนาคารกลางของรัสเซียนั้น พุ่งเป้าไปที่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจำนวนมากกว่า 600,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งรัสเซียมีสำรองอยู่ เพื่อมุ่งจำกัดความสามารถของรัสเซียในการสนับสนุนสกุลเงินรูเบิลของตน

ในเวลาที่รัสเซียต้องเผชิญการแซงก์ชันที่บีบคั้นมากขึ้นเรื่อยๆ ของฝ่ายตะวันตก ค่าของเงินตรารัสเซียล่วงดิ่งลงแบบลงเหวไปเลย และกระตุ้นให้ภายในรัสเซียเกิดอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างน่ากลัว โดยทำให้ค่าเงินรูเบิลดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อแลกกับดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งทำให้ตลาดหุ้นของรัสเซียประสบกับสัปดาห์เลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมีบันทึกกันไว้ จนกระทั่งปูตินต้องออกมาขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์แล้วแสดงถึงความหมดท่าจริงๆ ของปูตินเสียแล้ว

ในการเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ผ่านมา ฝ่ายรัสเซียมีข้อเสนอหลัก 4 ข้อในการยุติสงครามครั้งนี้คือ

  1. ยูเครนแก้รัฐธรรมนูญ ให้ไม่เข้าร่วมนาโตและสหภาพยุโรป
  2. ให้ยูเครนยุติปฏิบัติการทางทหารทั้งหมดและลดขนาดกองทัพ
  3. ยูเครนต้องยอมรับในเอกราชของสาธารณรัฐโดเนตสก์ และลูฮันสก์ที่แยกตัวออกจากยูเครน
  4. ยอมรับไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีแสดงท่าทีว่ายูเครนสามารถรับข้อเสนอของรัสเซียได้เพียงข้อเดียวแต่ข้อเสนอข้อที่ 3 และข้อที่ 4 นั้นยูเครนไม่สามารถยอมรับได้อย่างเด็ดขาด ดังนั้นสงครามรัสเซีย-ยูเครนนี้คงต้องดำเนินไปอีกนาน โดยคนยูเครนจะต้องตายอีกนับหมื่นนับแสนคนและบ้านเมืองคงต้องถูกทำลายยับเยิน และรัฐบาลยูเครนคงต้องย้ายไปตั้งบัญชาการที่ต่างประเทศ เพื่อสู้รบต่อไปแบบกองโจร จนกระทั่งรัสเซียจะถูกพิษคว่ำบาตรจากนานาประเทศซึ่งหนักหนาสาหัสจริงๆ เพราะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการคว่ำบาตรเงินตราโดยตรง และทนค่าใช้จ่ายสงครามไม่ไหวจนต้องถอยไปเอง

ครับ! ความน่าจะเป็นของบทจบในสงครามรัสเซีย-ยูเครนก็น่าจะยื้อไปถึงสงครามกองโจร (guerrilla warfare) นั่นแหละครับ