บลูมเบิร์กจัดไทยกลุ่มท้ายตารางฟื้นตัวโควิด สุดต้านเดลตา กอดคอเพื่อนบ้านอาเซียนอันดับดิ่ง

บลูมเบิร์ก สำนักข่าวด้านธุรกิจและเศรษฐกิจ จัดอันดับประเทศที่ดีที่และแย่ที่สุดที่จะอาศัยอยู่ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ครั้งล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี (26 ส.ค.) พบว่าไทยอยู่ในกลุ่ม 5 ประเทศท้ายตารางดังกล่าวร่วมกับเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ไทยมีอันดับร่วงลงมาถึง 8 อันดับจากการสำรวจครั้งก่อน มาอยู่ที่ 49 จากทั้งหมด 53 อันดับ ซึ่งอยู่ต่ำกว่าอิหร่านที่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 48

ส่วนอีก 4 อันดับที่เหลือ (อันดับที่ 50-53) เป็นเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกันหมด ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย โดยมีเพียงอินโดนีเซียชาติเดียวที่อันดับดีขึ้นจากที่เคยอยู่ท้ายสุดของตาราง

บลูมเบิร์กระบุว่าประเทศในภูมิภาคนี้นอกจากเผชิญกับการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ชนิดกลายพันธุ์แบบเดลตา ที่ระบาดได้รวดเร็วกว่าชนิดอื่นแล้ว ยังฉีดวัคซีนให้ประชาชนล่าช้า ทั้งยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตต่อประชากร 100,000 คนที่สูงมากด้วย

อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคนี้มีเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่ฟื้นตัวจากโควิดได้ดีมาก คือ สิงคโปร์ ที่อยู่อันดับ 8 และเป็นอันดับที่ดีที่สุดของชาติในเอเชียด้วย

ขณะเดียวกัน 5 อันดับของประเทศที่ฟื้นตัวได้ดีที่สุดคือ นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ ไอร์แลนด์ และออสเตรีย

บลูมเบิร์กตั้งข้อสังเกตอีกว่าเมื่อพิจารณาดูแล้ว ประเทศที่รับมือได้ดีในขณะนี้ล้วนเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือมีฐานะดี เพราะสามารถกระจายวัคซีนแก่ประชาชนได้ทั่วถึง ขณะประเทศที่มีฐานะรองลงมาหรือยากจนก็จะมีความสามารถในการแก้ปัญหานี้ได้ต่ำลงไปด้วย

ทั้งนี้ เกณฑ์ที่บลูมเบิร์กนำมาใช้วัดการฟื้นตัวของแต่ละประเทศ ได้แก่ สัดส่วนของประชากรที่ได้รับวัคซีน ความเข้มข้นของการล็อกดาวน์ ศักยภาพของเที่ยวบิน และเส้นทางการท่องเที่ยวสำหรับผู้เดินทางที่ฉีดวัคซีนแล้ว