ผู้เชี่ยวชาญชี้ “เดลตาครอน” อาจเป็นการปนเปื้อนในแล็บ ไม่ใช่การกลายพันธุ์ใหม่

ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขหลายรายได้ออกมาแสดงความกังขาเกี่ยวกับรายงานการพบไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ครั้งใหม่ที่มีชื่อว่า “เดลตาครอน” โดยบรรดาผู้เชี่ยวชาญมองว่า มีความเป็นไปได้มากกว่าที่การกลายพันธุ์ดังกล่าวจะเกิดจากความผิดพลาดในขั้นตอนการตรวจสอบ

ก่อนหน้านี้ทีมวิจัยของศาสตราจารย์ลีออนดิโอส คอสทริคิส หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและไวรัสวิทยาระดับโมเลกุล มหาวิทยาลัยไซปรัส เป็นผู้ค้นพบไวรัสกลายพันธุ์ดังกล่าว โดยทีมวิจัยได้วิเคราะห์ตัวอย่างสิ่งส่งตรวจจำนวน 25 รายการในไซปรัส หลังจัดลำดับพันธุกรรม 1,377 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการติดตามการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ในไซปรัส และได้พบว่าเชื้อไวรัสมีลักษณะทางพันธุกรรมของไวรัสสายพันธุ์เดลตาและไวรัสโอมิครอนอีกบางส่วน

ทั้งนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ไซปรัสได้อัปโหลดข้อมูลขึ้นสู่จีไอเอสเอไอดี (GISAID) ฐานข้อมูลจีโนมออนไลน์ด้านโรคโควิด-19 ระดับโลกแล้ว

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญมากมายได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการค้นพบดังกล่าว โดย ดร.ครูติกา คัปปัลลี ผู้เชี่ยวชาญด้านโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ทวีตข้อความว่า การค้นพบดังกล่าวน่าจะเกิดจากการปนเปื้อน โดยมีสารพันธุกรรมจากโอมิครอนเข้าไปปะปนกับตัวอย่างสายพันธุ์เดลตา นอกจากนี้เธอยังเสริมว่า “อย่าเอาชื่อโรคระบาดมาผสมกันให้กลายเป็นชื่อใหม่เลย เรื่องนั้นปล่อยให้เป็นหน้าที่ของดาราจะดีกว่า”

ขณะเดียวกัน ดร.ทอม พีค็อก นักไวรัสวิทยาจากอิมพิเรียลคอลเลจลอนดอนก็ได้ทวีตข้อความเช่นกัน โดยระบุว่า การกลายพันธุ์ “เดลตาครอน” ที่ไซปรัสค้นพบและมีการรายงานโดยสื่อหลายเจ้านั้น น่าจะเกิดขึ้นจากการปนเปื้อนอย่างแน่นอน