“รถไฟผลไม้” จากไทย-ลาว ขนลำไย-กล้วยกว่า 1,300 ตัน ส่งตรงสู่จีนเที่ยวแรก

รถไฟสินค้าขบวนพิเศษบรรทุกผลไม้ จากประเทศไทยและลาว รวมน้ำหนักกว่า 1.3 พันตัน มุ่งสู่นครเฉิงตู และฉงชิ่ง ประเทศจีน เที่ยวแรกสำเร็จแล้ว

วันที่ 9 ธันวาคม 2565 สำนักข่าวซินหัว รายงานกรณีรถไฟสินค้าขบวนพิเศษซึ่งบรรทุกผลไม้สดเดินทางถึงนครเฉิงตู เมืองเอกของมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ผ่านทางรถไฟจีน-ลาวเมื่อวันพุธ (7 ธ.ค.) และอีกขบวนเดินทางถึงเทศบาลนครฉงชิ่งทางตะวันตกเฉียงใต้เมื่อวันพฤหัสบดี (8 ธ.ค.) นับเป็นผลไม้ชุดแรกที่นำเข้าผ่านทางรถไฟสายดังกล่าวสู่ทั้งสองเมือง

รถไฟสองขบวนซึ่งขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ระบบเย็นขบวนละ 25 ตู้ ขนส่งผลไม้มากกว่า 1,300 ตัน ได้แก่ ลำไย กล้วย และผลไม้อื่นๆ จากไทยและลาว โดยรถไฟที่มุ่งหน้าสู่เฉิงตูใช้เวลาเดินทาง 4 วัน ขณะรถไฟที่มุ่งหน้าสู่ฉงชิ่งใช้เวลาเดินทาง 6 วัน ซึ่งลดต้นทุนด้านเวลาสำหรับผู้จัดจำหน่ายผลไม้จีนอย่างมีนัยสำคัญ

อ้ายจงหัว กรรมการบริหารของบริษัท ฉงชิ่ง จินกั่วหยวน อินดัสเตรียล จำกัด ซึ่งนำเข้าลำไยไทยมากกว่า 70,000 ตันในปีที่แล้ว ระบุว่าครั้งนี้ ฉงชิ่ง จินกั่วหยวนฯ นำเข้าลำไยจำนวน 25 ตู้คอนเทนเนอร์สู่เฉิงตู ซึ่งเคยใช้เวลาขนส่งทางทะเลมากกว่า 10 วัน ทว่าทางรถไฟจีน-ลาวช่วยให้สามารถประหยัดเวลาด้านโลจิสติกส์และลดต้นทุนถึงร้อยละ 30

ด้านบริษัท ฉงชิ่ง หงจิ่ว ฟรุต จำกัด นำเข้าลำไยจำนวน 20 ตู้คอนเทนเนอร์ และกล้วยจำนวน 5 ตู้คอนเทนเนอร์ สู่ฉงชิ่ง เมื่อวันพฤหัสบดี (8 ธ.ค.)

เผิงเหอ รองผู้จัดการทั่วไปของฉงชิ่ง หงจิ่วฯ ผู้จัดจำหน่ายผลไม้ที่จดทะเบียนแห่งแรกของจีน ระบุว่าทางรถไฟจีน-ลาวเป็นทางเลือกใหม่ด้านโลจิสติกส์สำหรับการค้าต่างประเทศในภาคอุตสาหกรรมผลไม้ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ โดยฉงชิ่ง หงจิ่วฯ นำเข้าทุเรียนมากกว่า 90,000 ตันในปี 2021

อนึ่ง ทางรถไฟจีน-ลาว ซึ่งเริ่มดำเนินการในเดือนธันวาคม 2021 ทอดยาวมากกว่า 1,000 กิโลเมตร โดยเชื่อมนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) กับนครหลวงเวียงจันทน์ของลาว