สหรัฐพบผู้เสียชีวิตจากโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเป็นรายแรกแล้ว ขณะที่ปัจจุบันกลายเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดในแดนลุงแซม พบผู้ติดเชื้อ 73% ทั่วประเทศ แซงหน้าเดลตาไปเรียบร้อย

สำนักข่าวเอบีซีรายงานว่า สหรัฐพบผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนรายแรกแล้วในขณะนี้ โดยผู้เสียชีวิตอยู่ในรัฐเท็กซัส

เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขในเขตแฮร์ริสของรัฐเท็กซัสเปิดเผยกับสำนักข่าวเอบีซีว่า ผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนรายแรกนี้ เป็นชายวัย 50 ปี ซึ่งไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และมีปัญหาด้านสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว

ขณะที่ นายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า ไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนกำลังแพร่ระบาดในอัตราที่รวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา พร้อมกับเตือนว่า ไวรัสโอมิครอนสามารถแพร่เชื้อไปยังผู้ที่ได้รับวัคซีนมาแล้ว หรือผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน

“โอมิครอน” กลายเป็นสายพันธุ์หลักในสหรัฐ พบผู้ติดเชื้อ 73% ทั่วประเทศ

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐ เปิดเผยแบบจำลองการประเมินล่าสุดประจำสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 18 ธ.ค. บ่งชี้ว่า ขณะนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนกระจายอยู่ทั่วประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 73% ของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมดที่พบในสหรัฐ โดยเพิ่มขึ้นราว 3% จากสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่สัดส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาลดลงเหลือเพียง 27% เท่านั้น

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากนั้นตอกย้ำถึงความวิตกที่ว่า ไวรัสโอมิครอนอาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดอีกระลอก ซึ่งจะทำให้ระบบสาธารณสุขของสหรัฐยิ่งตึงตัวมากขึ้น แม้จะมีหลักฐานว่าอาการเจ็บป่วยจากโอมิครอนไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์เดลตา แต่ระดับการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมากก็อาจทำให้โรงพยาบาลมีจำนวนผู้ป่วยมากเกินกว่าจะรองรับได้

ข้อมูลจาก CDC ระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดนั้นเป็นไปตามความคาดหมายอยู่แล้ว และรูปแบบในลักษณะนี้ก็พบเห็นได้ทั่วโลก โดยในบางพื้นที่ของสหรัฐนั้นพบโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้ในจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เกือบทั้งหมด โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 92% ในรัฐนิวยอร์กและรัฐนิวเจอร์ซีย์ ขณะที่มีสัดส่วนถึง 96% ในรัฐวอชิงตัน

นอกจากนี้ CDC ยังระบุด้วยว่า มาตรการป้องกันอื่นๆ เช่น การใส่หน้ากากภายในอาคารและการตรวจหาเชื้อที่บ้าน ยังคงช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว