ข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) หรือที่นิยมเรียกสั้นๆ ว่า CPTPP คือการรวมกลุ่มเศรษฐกิจของ 11 ประเทศที่ตั้งอยู่ในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกกล่าวคือประเทศในทวีปเอเชีย ทวีปออสเตรเลีย และทวีปอเมริกาเหนือและใต้ ที่มีอาณาเขตในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีเป้าหมายเพื่อยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าระหว่างประเทศสมาชิก แต่ประเทศสมาชิกยังเรียกเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้านำเข้าจากประเทศนอกกลุ่ม

CPTPP เป็นความตกลงทางการค้าเสรี การบริการและการลงทุน เพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกัน ทั้งการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุน ประกอบด้วยประเด็นการค้า 30 บท เช่น การเปิดตลาดสินค้า 95-99% ของรายการสินค้าทั้งหมด การบริการและการลงทุน นโยบายการแข่งขัน ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ เป็นต้นในปัจจุบันยังรวมถึงการเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุน

สำหรับ CPTPP เป็นความตกลงการค้าระหว่างประเทศของ 11 ประเทศ  คือออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม ที่พัฒนามาจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ซึ่งสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2559 ในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามาเป็นผู้ริเริ่ม แต่ไม่มีผลใช้บังคับได้เนื่องจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ผู้รับตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดีโอบามาไม่เห็นประโยชน์ในการเข้ารวมกลุ่ม TPP จึงได้นำสหรัฐอเมริกาถอนตัวจาก TPP ในปีต่อมา 

หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐประกาศถอนตัวออกจาก TPP ประเทศผู้ลงนามเดิมได้ตกลงในเดือนพฤษภาคม 2560 เพื่อรื้อฟื้นความตกลงใหม่บรรลุความตกลงในเดือนมกราคม 2561 มีพิธีลงนามอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2561 โดยเศรษฐกิจรวมของ 11 ประเทศในกลุ่ม CPTPP ที่ คิดเป็น 13.4% ของจีดีพีโลก (ประมาณ 13.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทำให้ CPTPP เป็นเขตการค้าเสรีใหญ่สุดอันดับสามของโลกโดยวัดจากจีดีพี รองจากความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือและตลาดร่วมยุโรป

ปรากฎว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนจีนยื่นสมัครเข้าร่วม CPTPP ในความพยายามเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้สถานะของตนเองในภูมิภาคนี้โดยความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นเพียง 1 วัน ที่อังกฤษสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ประกาศข้อตกลงด้านความมั่นคงครั้งประวัติศาสตร์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เรียกว่า AUKUS อันมีข้อตกลงที่อังกฤษและสหรัฐอเมริกาจะช่วยสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้กับออสเตรเลียจำนวน 8 ลำซึ่งถูกมองว่า เป็นความพยายามในการคานอำนาจกับสาธารณรัฐประชาชนจีนครั้งมโหฬาร

ครับ ! ในวันที่ 23 กันยายน ไต้หวันได้ยื่นสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ด้วยเพียงไม่กี่วันหลังจากที่สาธารณรัฐประชาชนจีนสมัครเข้าเป็นสมาชิก CPTPP นี้ โดยให้เหตุผลว่าประเทศสมาชิกในข้อตกลง CPTPP ส่วนใหญ่ก็เป็นคู่ค้าหลักของไต้หวันอยุ่แล้ว คิดเป็นกว่า 24% ของการค้าระหว่างประเทศของไต้หวัน และไต้หวันไม่สามารถถูกทิ้งไว้ในโลกได้ และต้องรวมอยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจระดับภูมิภาค

แน่นอนทีเดียวที่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนคัดค้านที่ไต้หวันสมัครเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ที่จีนเพิ่งยื่นใบสมัครก่อนหน้านี้เพียง 1 สัปดาห์ ขณะทางการไต้หวันเผย เครื่องบินรบของจีน 24 ลำ รวมถึงเครื่องบินทิ้งระเบิดที่สามารถบรรทุกระเบิดนิวเคลียร์ 2 ลำ บินเข้าเขตป้องกันภัยทางอากาศ แบบว่ายังไม่ทันไรก็เกิดความตึงเครียดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเสียแล้ว แต่การรับสมาชิกใหม่ของ CPTPP นี้สมาชิกดั้งเดิม 11 ประเทศต้องยอมรับเป็นเอกฉันท์นะครับ 

ดูแนวโน้มแล้วอาจจะอดทั้งคู่ก็ได้