“องค์การยายุโรป” ยันวัคซีน 4 ยี่ห้อ ป้องกันโควิด-19 ได้ทุกสายพันธุ์

องค์การยายุโรปยืนยัน วัคซีนโควิด 4 ชนิดที่อียูอนุมัติใช้ กันได้ทุกสายพันธุ์ที่แพร่อยู่ในภูมิภาค โดยเฉพาะเดลตา 

มาร์โค คาวาเลอรี หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์วัคซีนขององค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) เปิดเผยว่าอีเอมเอ สหภาพยุโรปกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบผลการศึกษาจากหลายส่วน เพื่อหาข้อสรุปว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่สหภาพยุโรปอนุมัติใช้ในขณะนี้ใน 4 ชนิด มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดในการป้องกันโควิดชนิดกลายพันธุ์ แต่อย่างก็ตามจากการรวบรวมข้อมูลของอีเอ็มเอในเบื้องต้นพบว่า วัคซีนทั้ง 4 ชนิดที่อียูอนุมัติใช้ในภูมิภาคนั้น มีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อและลดอัตราความเสี่ยงการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโควิดได้ในทุกสายพันธุ์

 “เราตระหนักถึงความกังวลของกรณีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของสายพันธุ์เดลตา และสายพันธุ์อื่นๆ แต่ดูเหมือนขณะนี้ วัคซีนทั้ง 4 ตัวที่อียูอนุมัติใช้จะมีประสิทธิภาพป้องกันโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดอยู่ในยุโรป ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์เดลตาด้วย” คาวาเลอรี กล่าว อย่างไรก็ตามองค์การยายุโรปจะศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อหาความชัดเจนว่า หากนำตัวแปรของไวรัสกลายพันธุ์โดยเฉพาะกับสายพันธุ์เดลตารวมไปด้วยนั้น ประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลงมากน้อยเพียงใด

ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันควิด-19 จำนวน 4 ตัว ได้รับอนุมัติใช้งานกรณีฉุกเฉินในสหภาพยุโรป (EU) ประกอบด้วย วัคซีนไฟเซอร์, โมเดอร์นา, แอสตร้าเซนเนก้า และจอห์นสันแอนด์จอหน์สัน

คาวาเลอรียัง ระบุว่า ข้อมูลจากการใช้งานจริงบ่งชี้ว่า วัคซีน 2 โดสจากทั้งสามตัวในข้างต้น มีประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์เดลตา ขณะข้อมูลจากห้องปฏิบัติการเปิดเผยว่า แอนติบอดีจากวัคซีนสามารถป้องกันสายพันธุ์ดังกล่าวเช่นกัน ถือเป็นข่าวดีที่สร้างความมั่นใจให้กับเรา โดยในเบื้องต้นอีเอ็มเอชี้ว่า ยังไม่มีข้อมูลเรื่องความจำเป็นของการฉีดวัคซีนบูสเตอร์เข็มที่สาม “เรายังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าการฉีดวัคซีนกระตุ้นเพื่อรักษาระดับการป้องกันเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่”

นอกจากนี้ องค์การยายุโรป ทราบถึงกลยุทธ์การฉีดวัคซีนร่วมกันที่บางประเทศสมาชิกนำมาใช้ โดยเฉพาะที่ประเทศเยอรมนี โดยกลยุทธ์ดังกล่าวเคยได้รับการพิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จและมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับ อย่างไรก็ตามองค์การยายุโรป ไม่อยู่ในฐานะที่จะตัดสินชี้ขาดเกี่ยวกับการใช้แผนการข้างต้นได้ เนื่องจากเป็นสิทธิการบริหารและกลยุทธ์วัคซีนของแต่ละชาติสมาชิก