อาลีบาบาโกยรายได้ 11.11 สูงเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางการคุมเข้มจาก รัฐบาลจีน

‘อาลีบาบา’ อีคอมเมิร์ซรายใหญ่จากจีนทุบสถิติตัวเองด้วยการสร้างรายได้จากยอดขายสินค้า (GMV) จากแคมเปญ ‘Singles Day’ หรือ ‘วันคนโสด’ 11.11

ที่เป็นเสมือนวันช็อปปิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกได้ได้มากกว่า 84,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2.77 ล้านล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการขายสินค้าบนแพลตฟอร์มระหว่างวันที่ 1-11 พ.ย.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ราว 8.5%

รายได้เพิ่ม แต่อัตราการเติบโตต่ำ

อย่างไรก็ตาม รายได้ที่เพิ่มขึ้นมหาศาลกลับน้อยกว่าจำนวนที่มีการคาดการณ์ไว้อย่างมีนัยสำคัญ โดยนักวิเคราะห์จาก Citi คาดการณ์ไว้ว่าในปีนี้ อาลีบาบาจะสามารถกวาดรายได้จากแคมเปญ 11.11 ได้มากกว่าปีที่แล้วราว 15% หรือคิดเป็นจำนวนเงินร่วม 90,000 ล้านดอลลาร์ นั่นหมายความว่าในปีนี้อาลีบาบาทำรายได้น้อยกว่าที่คาดไว้ร่วม 5,500 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว และน้อยลงไปอีกเมื่อเทียบกับการเติบโตของรายได้แคมเปญ 11.11 ในปี 2563 ที่เพิ่มขึ้นจากปี 2562 มากถึง 26%

นักวิเคราะห์จาก Citi ระบุว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้น่าประหลาดใจมากนัก สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะการแข่งขันในตลาดอีคอมเมิร์ซที่ดุเดือดขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่ยังชะลอตัว และความต้องการการบริโภคภายในที่อ่อนตัวลง

สำนักข่าว CNN รายงานว่าบริษัทคู่แข่งที่กำลังเป็นดาวรุ่งในตอนนี้อย่าง JD.com นั้นทำรายได้จากยอดขายสินค้า (GMV) ในช่วงเวลาเดียวกันได้อย่างน่าประทับใจ โดยสามารถทำรายได้ในแคมเปญ 11.11 ไปได้มากกว่า 54,600 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.79 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนหน้าถึง 28.6% แม้จะน้อยกว่าปีก่อนหน้าที่ 33% ก็ตาม

ปัจจัยการชะลอตัวของ GDP

แม้ในปีที่ผ่านมา จีนจะเป็นชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่แห่งเดียวที่สามารถเอาตัวรอดจากปีแห่งการระบาดหนักของโควิด-19 ได้โดยไม่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ GDP ของจีนในปีนี้ยังคงไม่หลุดพ้นจากความน่ากังวล เพราะในไตรมาสที่ 3 GDP จีนโตเพียงแค่ 4.5% เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าไตรมาสที่ 2 อย่างมากที่โตสูงถึง 7.9% เป็นผลมาจากแรงกระทบในอุตสาหกรรมขนส่งสินค้า วิกฤตขาดแคลนพลังงาน และวิกฤตราคาอสังหาริมทรัพย์

นอกจากนั้นผู้บริโภคในจีนก็ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์เงินเฟ้อที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งกระทบโดยตรงทำให้พลังการซื้อของผู้คนลดลง ขณะที่กำลังและความต้องการในการซื้อก็ยังห่างไกลจากสถานการณ์ก่อนการระบาดของโควิด และการที่ต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้นนั้นก็ทำให้กำไรของภาคธุรกิจหดตัว

รัฐบาลจีนคุมเข้มบริษัทเทคโนโลยี

การควบคุมและตรวจสอบอย่างเข้มงวดของรัฐบาลจีนต่ออุตสาหกรรมต่างๆ เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้แคมเปญสร้างยอดขาย 11.11 ในปีนี้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรจะเป็น โดยในปีที่ผ่านมารัฐบาลปักกิ่งดำเนินการอย่างจริงจังในการตรวจสอบภาคธุรกิจ ซึ่งธุรกิจประเภทอีคอมเมิร์ซนั้นก็ถูกจับตาเป็นพิเศษเช่นเดียวกัน โดยมีเหตุผลการจัดการการผูกขาดตลาด ความปลอดภัยของข้อมูล และเหตุผลทางความมั่นคง

หนึ่งในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือการที่ อาลีบาบานั้นต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินสูงถึง 91,770 ล้านบาท เพราะรัฐบาลจีนเห็นว่ามีพฤติกรรม “ผูกขาดตลาด” ขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่รายอื่นอย่าง JD.com, Tencent, Pinduoduo, Meituan ฯลฯ ต่างก็ถูกสอบสวนจากรัฐบาลจีนอย่างจริงจัง หลายบริษัทถูกปรับเป็นเงินมหาศาลเนื่องจากมีพฤติกรรม “ต่อต้านการแข่งขัน”

อาลีบาบาตัดสินใจให้คำมั่นสัญญาว่าจะบริจาคเม็ดเงินจำนวนราว 15,600 ล้านดอลลาร์ หรือราว 5.11 แสนล้านบาทให้กับรัฐบาลจีนภายในปี 2568 เพื่อทำการสนับสนุนนโยบาย ‘Common Prosperity’ หรือ ‘ความมรุ่งเรืองร่วมกัน’

ขณะที่บริษัท Pinduoduo ได้ให้คำมั่นไว้ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาว่าจะมอบรายได้ทั้งหมดจากไตรมาสที่ 2 เพื่อโครงการพัฒนาพื้นที่ชนบทในจีน พร้อมจะบริจาคเงินราว 1,500 ล้านดอลลาร์เพื่อจุดประสงค์เดียวกัน ส่วนบริษัท JD.com ก็ได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่ชนบทของจีนเมื่อปีที่ผ่านมา ด้วยการมอบเงินลงทุนและใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของบริษัทในการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ เป็นต้น

ไม่เพียงแค่การพัฒนาพื้นที่ชนบทเท่านั้น บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆที่ถูกรัฐบาลจีนจับตายังได้แสดงความต้องการที่จะให้ความช่วยเหลือรัฐบาลจีนในการบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย หนึ่งในนั้นคือการให้ความร่วมมือด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจีนและสหรัฐฯ ประกาศร่วมมือหาทางออกวิกฤตโลกร้อนร่วมกันบนเวที COP26 และผู้นำทั้งสองอย่าง โจ ไบเดน และสีจิ้นผิง มีกำหนดจะร่วมประชุมร่วมกันทางไกลในสัปดาห์นี้