เป็นครูอาจารย์เมื่อทำผิดแล้วก็ควรแก้ไขถึงจะน่านับถือ

รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกามีผลบังคับใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2332 (ก่อนการเกิดการปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส 4 เดือนเต็ม ตรงกับสมัย ร.1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) แต่มีการท้วงติงว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ (ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ยังคงใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน) ยังไม่มีการรับรองสิทธิของพลเมืองซึ่งถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2332 รัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกาจึงเสนอให้บรรดารัฐสภาของมลรัฐทั้ง 13 มลรัฐขณะนั้นพิจารณาเพื่อลงประชามติรับหรือไม่รับร่างบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับเรื่องสิทธิของพลเมือง 12 มาตรา

บรรดามลรัฐทั้งหมดได้ลงประชามติให้การรับรองร่างบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราที่ 3-12 เข้าไว้ในรัฐธรรมนูญในคราวเดียวกันเป็นบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราที่ 1-10 ในรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐฯ ในปัจจุบัน

แต่อีก 203 ปีต่อมา ในพ.ศ. 2535 บรรดามลรัฐทั้งหลายจึงรับรองร่างบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราที่ 2 เข้าไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราที่ 27 ซึ่งเป็นบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราสุดท้ายในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯในปัจจุบัน

ส่วนร่างบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราที่ 1 นั้นไม่มีไม่เคยได้การรับรองเลยจนถึงปัจจุบัน สำหรับบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 10 มาตราแรกของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ที่เป็นสิทธิของพลเมืองอเมริกันแบบย่อ ๆ มีดังนี้ คือ…

มาตราที่ 1 พลเมืองมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา มีเสรีภาพในการพูด มีเสรีภาพในการเขียนและพิมพ์ มีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ มีเสรีภาพในการยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ต่อรัฐบาล

มาตราที่ 2 พลเมืองมีสิทธิที่จะมีอาวุธปืนในครอบครองได้ เพราะในยามจำเป็นอาจใช้เป็นอาวุธประจำกายในสงครามในฐานะอาสาสมัครรักษาดินแดนได้

มาตราที่ 3 ห้ามมิให้ทหารประจำการเข้าอาศัยอยู่ในบ้านเรือนของพลเมืองและให้พลเมืองเลี้ยงดู (ในสมัยก่อนทหารอังกฤษมักจะมาอาศัยอยู่ตามบ้านเรือนพลเมืองอเมริกันในระหว่างปฏิบัติหน้าที่)

มาตราที่ 4 พลเมืองมีสิทธิในร่างกาย และในเคหสถานซึ่งทางการจะเข้ามาจับกุมหรือค้นบ้านเรือนโดยปราศจากหมายศาลมิได้

มาตราที่ 5 คดีอาญาที่มีโทษร้ายแรงต้องพิจารณาโดยศาลที่มีคณะลูกขุนเต็มคณะเท่านั้น และพลเมืองทุกคนจะถูกลงโทษในความผิดเดียวกันซ้ำอีกไม่ได้และทรัพย์สินของพลเมืองที่ถูกนำไปใช้เพื่อสาธารณประโยชน์โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนอย่างชอบธรรมไม่ได้

มาตราที่ 6 ในการพิจารณาคดีอาญาทั้งปวงต้องดำเนินการแบบต่อหน้าโดยเปิดเผยและโปร่งใส

มาตราที่ 7 ในคดีฟ้องร้องในคดีที่มีมูลค่าเกินกว่า 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ พลเมืองมีสิทธิที่ขะร้องขอให้มีการพิจารณาคดีโดยมีคณะลูกขุนเต็มคณะได้

มาตราที่ 8 การกำหนดค่าประกันตัวหรือค่าปรับเกินควรไม่ได้และบทลงโทษที่โหดร้ายทารุณจะกระทำมิได้

มาตรา 9 บรรดาสิทธิของพลเมืองที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญจะตีความให้เป็นโทษหรือลิดรอนสิทธินั้นมิได้

มาตราที่ 10 นอกเหนือจากบรรดาสิทธิที่รัฐบาลสหรัฐฯได้รับจากบรรดามลรัฐที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นสิทธิของบรรดามลรัฐเท่านั้น

คราวนี้ก็มาเข้าเรื่องกล่าวคือใน พ.ศ. 2525 เมื่อนายเกรกอรี วัตสัน อายุ 19 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 แห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสตินได้เข้าไปค้นคว้าในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเพื่อทำรายงานส่งอาจารย์อันเป็นภาคบังคับในวิชารัฐศาสตร์เบื้องต้นแล้วตัดสินใจทำรายงานเรื่อง “ร่างบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราที่ 2”

เมื่ออ่านเนื้อเนื้อหาของร่างบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราที่ 2 ที่เขียนว่า

“กฎหมายใด ๆ อันเกี่ยวข้องกับอัตราเงินเดือนของสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะมีผลใช้บังคับไม่ได้จนกว่าภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกภาผู้แทนราษฎรสมัยต่อไป”

หมายความว่าหากนักการเมืองโหวตกฎหมายขึ้นเงินเดือนให้ตัวเองแล้ว จะยังใช้บังคับไม่ได้จนกว่าหลังจากมีการเลือกตั้งคราวต่อไปเสร็จสิ้นลง และนักการเมืองชุดใหม่เข้ามาทำหน้าในรัฐสภาแล้วจึงจะเริ่มรับเงินเดือนใหม่ที่ขึ้นโดยนักการเมืองชุดที่แล้วได้นั่นเองซึ่งเป็นการให้ประชาชนตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งใหม่นั้นอย่างเต็มที่นั่นเอง

วัตสันจึงทำรายงานเรื่องความน่าจะเป็นในการนำบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของเมดิสันเข้าไปบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาผ่านทางการรณรงค์หาเสียงจากบรรดานักการเมืองและประชาชนชาวอเมริกันในอีก 29 มลรัฐเมื่อเขาส่งรายงานที่มีเหตุผลและมีความน่าจะเป็นประกอบกับการอ้างอิงที่เพียบพร้อม แต่ผลปรากฏว่าเขาได้เกรด C จากรายงานนี้

เขาได้ทำเรื่องอุทธรณ์ไปยังอาจารย์ ชาร์ลอน เวท แต่ก็ได้รับการยืนยันว่าเกรด C ที่เขาได้รับนั้นเหมาะสมแล้วเนื่องจากการเพิ่มเติมบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นยากลำบากแสนเข็ญ เพราะว่ามีเพียง 26 มาตราของบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในประวัติศาสตร์ 200 กว่าปีของสหรัฐอเมริกาและมีเพียงบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 15 มาตราที่ได้รับการบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ พ.ศ.2346 (สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)

นายเกรกอรี วัตสัน จึงตัดสินใจทำการรณรงค์เพื่อให้บทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรานี้ให้ผ่านการรับรองของมลรัฐต่างๆ 29 มลรัฐให้ได้ด้วยตัวเอง โดยเริ่มเขียนจดหมายชักชวนนักการเมืองและชาวอเมริกันให้ช่วยกันรณรงค์ ซึ่งในระยะแรกก็ไม่เป็นผลจนกระทั่งวุฒิสมาชิก วิลเลียม โคเฮน แห่งมลรัฐเมนซึ่งเป็นมลรัฐเล็กๆ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกาช่วยผลักดันให้รัฐสภาของมลรัฐเมนรับรองบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นมลรัฐที่ 10 หลังจาก 9 มลรัฐได้รับรองไปก่อนแล้วถึง 203 ปี

วัตสันจึงเกิดความฮึกเหิมระดมเขียนจดหมายชักชวนการรับรองบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญส่งไปยังนักการเมืองทั่วทุกมลรัฐจนในที่สุดในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เป็นเวลา 10 ปีพอดีที่วัตสันเริ่มรณรงค์หลังจากที่เขาได้เกรด C จากอาจารย์ชาร์ลอน เวท บทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ 27 ก็ผ่านการรับรองจากบรรดามลรัฐจำนวนสองในสามได้สำเร็จโดยมีมลรัฐแอละแบมาเป็นมลรัฐที่ 38 ที่ทำให้ถึงหลักชัย

แต่วัตสันยังต้องคอยถึง 35 ปีนะครับ กว่าอาจารย์ชาร์ลอน เวทเธอจะตัดสินใจแก้ไขเกรดให้เป็น A+ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2560 โดยยอมรับว่า

“จากการที่ได้พบว่านักศึกษาได้กระทำการที่เป็นวีรกรรมที่พิสูจน์ว่าอาจารย์และผู้ช่วยสอนได้ร่วมกันใช้วิจารณญาณที่ผิดในการประเมินรายงานของเขา คุณวัตสันสมควรที่จะได้เกรด A+”

ก็ยังดีนะครับเพราะเกรดA+ นี่ ที่สหรัฐอเมริกาเป็นคะแนนล้นเกินนะครับคือนับให้เป็น 4.25 เลยทีเดียว