เฟซบุ๊กระงับบัญชีผู้ใช้ของ “ทรัมป์” 2 ปี หลังพบทำผิดกฎขั้นร้ายแรง

เฟซบุ๊กสั่งระงับบัญชีผู้ใช้ของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นเวลา 2 ปี จนถึงเดือนมกราคม ปี พ.ศ.2566 เป็นอย่างน้อย หลังคณะกรรมการอิสระพบว่าทำผิดกฎเกี่ยวกับเนื้อหาบนโซเชียลมีเดีย “ขั้นร้ายแรง”

สำนักข่าวรอยเตอร์และ The Associated Press รายงานในวันศุกร์ตามเวลาในสหรัฐฯ ว่าคณะกรรมการกำกับกิจการของเฟซบุ๊กได้ลงมติในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ให้เฟซบุ๊กยังคงบล็อกแอคเคานท์ของทรัมป์ต่อไป หลังจากที่ได้เริ่มระงับมาตั้งแต่เกิดเหตุการณ์บุกล้อมอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในวันที่ 6 มกราคม

คณะกรรมการเห็นด้วยกับเฟซบุ๊กว่า ข้อความที่ทรัมป์โพสต์ในวันที่ 6 มกราคมจำนวนสองโพสต์นั้น ทำผิดระเบียบว่าด้วยเนื้อหาของเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม “ขั้นร้ายแรง” เพราะทรัมป์โพสต์บอกว่ากับผู้ที่ก่อเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาว่า “เรารักพวกคุณ พวกคุณเป็นคนพิเศษมาก” และโพสต์ที่ 2 ที่ทรัมป์เรียกบุคคลเหล่านั้นว่าเป็น “ผู้รักชาติที่ยิ่งใหญ่” และบอกพวกเขาว่า “ขอให้จดจำวันนี้ตลอดไป”

บัญชีเฟซบุ๊กของทรัมป์ จะกลับมาใช้ได้อีกครั้งก็ต่อเมื่อมีการพิจารณาแล้วว่าโอกาสที่ทรัมป์จะโพสต์ข้อความที่จะเป็นอันตรายต่อสาธารณชนนั้นได้ลดน้อยลง

ด้านโฆษกประจำตัวของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังไม่แสดงความเห็นใดๆ ในทันที หลังจากที่สำนักข่าวรอยเตอร์ติดต่อสอบถามไป

การแบนครั้งนี้หมายความว่า บัญชีเฟซบุ๊กของทรัมป์จะติดอยู่ใน “คุกเฟซบุ๊ก” ซึ่งหมายความว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กยังจะสามารถเข้าไปอ่านและคอมเมนต์ในโพสต์เก่าๆ ของทรัมป์ได้ แต่ทรัมป์และผู้ที่ดูแลเฟซบุ๊กของเขาจะไม่สามารถโพสต์อะไรใหม่ๆ ได้อีก ในขณะที่ทางฝั่งทวิตเตอร์ ที่ได้แบนทรัมป์เป็นการถาวรไปก่อนหน้านี้นั้น ได้ทำการลบโพสต์เก่าๆ ของทรัมป์ออกไป ไม่เหลือให้เห็นอีกเลย

เฟซบุ๊กยังกล่าวด้วยว่า จะใช้มาตรการคว่ำบาตรชุดอื่นๆ อีกหากทรัมป์ยังคงฝ่าฝืนกฎระเบียบ ซึ่งอาจจะทำให้ทรัมป์ถูกแบนจากเฟซบุ๊กเป็นการถาวรตลอดไป

ช่วงระยะเวลาที่เฟซบุ๊กระงับบัญชีผู้ใช้ของทรัมป์ หมายความว่าทรัมป์จะไม่สามารถใช้เฟซบุ๊กของตนก่อนที่จะมีการเลือกตั้งกลางสมัย หรือมิดเทอม (midterm elections) ในเดือนพฤศจิกายนในปีหน้า ซึ่งพรรครีพับลิกันจะส่งตัวแทนลงชิงที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์อาจจะยังมีสิทธิ์ที่จะได้กลับมาใช้เฟซบุ๊กอีกครั้ง ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปในปลายปี พ.ศ. 2567

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทโซเชียลมีเดียต่างๆ ต้องเผชิญกับคำถามที่ว่าพวกเขาจะจัดการกับบุคคลระดับผู้นำประเทศและนักการเมืองที่ฝ่าฝืนกฎของบริษัทอย่างไร การระงับบัญชีใช้งานของทรัมป์ถือเป็นเหตุการณ์แรกที่เฟซบุ๊กบล็อกโซเชียลมีเดียของบุคคลระดับประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี หรือประมุขของประเทศที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ในเวลานั้น

ที่ผ่านมา นโยบายไม่แทรกแซงการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการเมืองของเฟซบุ๊กนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก และมีแรงกดดันให้ยกเลิกนโยบายดังกล่าว แต่ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊กก็ถูกวิจารณ์จากฝั่งตรงข้ามด้วยเช่นกัน ซึ่งประกอบด้วย ส.ส.พรรครีพับลิกัน และนักรณรงค์เพื่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ที่มองว่าการแบนเฟซบุ๊กของทรัมป์เป็นการเซนเซอร์ที่น่ากังวล

นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังวางแผนที่จะยุติอีกนโยบายหนึ่งที่ตกเป็นเป้าวิจารณ์อย่างมาก นั่นคือนโยบายที่ยกเว้นนักการเมือง ไม่ให้ต้องอยู่ภายใต้กฎข้อห้ามการใช้คำพูดเพื่อสร้างความเกลียดชัง (hate speech) ซึ่งก่อนหน้านี้นโยบายดังกล่าวไม่เคยถูกนำมาใช้กับโพสต์ต่างๆ ของทรัมป์

เฟซบุ๊กกล่าวด้วยว่า บริษัทยังจะยกเว้นการใช้กฎห้ามการใช้คำพูดเพื่อสร้างความเกลียดชังนี้กับโพสต์ที่บริษัทเห็นว่ามี “คุณค่าในเชิงข่าว” (newsworthiness) ไม่ว่าโพสต์เหล่านั้นจะผิดกฎหรือไม่ก็ตาม แต่จากนี้ไป เฟซบุ๊กจะไม่เลือกปฏิบัติระหว่างโพสต์ของนักการเมืองและของประชาชนคนทั่วไปอีกแล้ว