เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้อ่านเจอข่าวจากประเทศบราซิล ซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดและมีประชากรมากที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ และเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลก  

ประเทศบราซิลเป็นประเทศเกษตรกรรมและป่าเขตร้อน การที่บราซิลมีทรัพยากรธรรมชาติที่มากมายและมีแรงงานเป็นจำนวนมาก ทำให้เป็นประเทศที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สูงที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ (สูงเป็นอันดับที่ 10 ของโลก) และเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคในปัจจุบัน

บราซิลใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาทางการเพราะบราซิลเคยตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศโปรตุเกส ซึ่งเป็นประเทศเล็กนิดเดียวตั้งอยู่ปลายสุดทางทิศตะวันตกของทวีปยุโรปล้อมรอบด้วยประเทศสเปนและมหาสมุทรแอตแลนติก 

ข่าวนี้ตรงกับสำนวนไทยที่ว่า “หนีเสือปะจระเข้” เป็นสำนวนที่เรารู้จักกันดี หมายถึงการหนีภัยอันตรายหรือสิ่งเลวร้ายอย่างหนึ่งแล้วแต่ต้องมาพบภัยอันตรายอีกอย่างหนึ่งซึ่งอันตรายหรือมีปัญหาไม่แพ้กัน เข้าป่าก็เจอเสือหนีเสือกระโดดลงน้ำหวังว่าจะปลอดภัย ที่ไหนได้ในน้ำกับมีจระเข้อีกซึ่งก็มีอันตรายพอๆ กัน

แต่จากข่าวที่อ่านนั้นเกิดขึ้นที่รัฐมีนัสเชไรส์ มีหนุ่มใหญ่วัย 30 ปีรายหนึ่งที่ได้ไปตกปลาบริเวณทะเลสาบบริเวณริมน้ำกับเพื่อนอีก 2 คน จู่ๆ ก็มีฝูงผึ้งหลายร้อยตัวเข้ามาโจมตีพวกเขาที่กำลังตกปลาอยู่ซึ่งพวกเขาถูกฝูงผึ้งบินมารุมต่อยจนสุดจะหลบหนีได้จึงพากัน กระโดดลงน้ำและว่ายหนีออกไปยังจุดอื่นทั้ง 3 คน แต่โชคร้ายที่เพื่อนๆ ทั้ง 2 คนว่ายน้ำมาขึ้นฝั่งได้อย่างปลอดภัย แต่หนุ่มใหญ่วัย 30 ปีอีกคนกลับหายตัวไปอย่างเป็นปริศนาไม่โผล่ขึ้นจากน้ำอีกเลย

เมื่อหน่วยกู้ภัยที่ถูกเรียกมาช่วยเหลือ พวกเขาก็ได้รับแจ้งว่าทะเลสาบดังกล่าวมีปลาปิรันยา ซึ่งเป็นปลากินเนื้อ อาศัยอยู่เต็มแหล่งน้ำดังกล่าว

กระทั่งในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่พบร่างของผู้เคราะห์ร้ายอยู่ในน้ำ ห่างจากชายฝั่งไปราว 4 เมตรโดยขณะที่เจ้าหน้าที่ยังเห็นฝูงปลาปิรันยากำลังรุมฉีกทิ้งเนื้อจากร่างของเขาอยู่

เมื่อทำการเก็บกู้ร่างขึ้นจากน้ำได้ ก็พบว่าร่างของผู้เสียชีวิตอยู่ในสภาพที่ถูกทำลาย หลายจุดบนร่างกายถูกปลาฉีกเนื้อจนเปิดออก ใบหน้าซีกขวาก็ถูกกัดกินไปเช่นกัน แต่เจ้าหน้าที่กู้ภัยไม่แน่ใจว่าผู้เคราะห์ร้ายเสียชีวิตจากการจมน้ำ หรือเป็นเพราะถูกฝูงปลาปิรันยาเข้ามากินกันแน่ 

ปลาปิรันยาเป็นปลาน้ำจืดกินเนื้อเป็นอาหาร มักอยู่รวมกันเป็นฝูงขนาดใหญ่ พบในแม่น้ำแอมะซอน และแม่น้ำหลายสายในทวีปอเมริกาใต้ มีฟันที่แหลมคมรูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ มีส่วนหัวขนาดใหญ่ มีกล้ามเนื้อบริเวณกระพุ้งแก้มแข็งแรง ใช้สำหรับกัดกินเนื้อของสัตว์ที่ตกลงไปอยู่ใกล้ที่อยู่เป็นอาหาร โดยปลาปิรันยาจะใช้ฟันที่แหลมคมกัดกินเนื้อของสัตว์ใหญ่จนทะลุไปถึงกระดูกสันหลังได้เพียงไม่กี่นาที

ความดุร้ายของปลาปิรันยาแตกต่างกันออกไปตามแต่ชนิดซึ่งในทวีปอเมริกาใต้เป็นที่อยู่ของปลาปิรันย่ากว่า 30 สายพันธุ์ 

สาเหตุที่โปรตุเกสซึ่งเป็นประเทศเล็กนิดเดียวอยู่ปลายสุดของทวีปยุโรปสามารถมีอาณานิคมขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลกและสามารถทำให้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษามีคนพูดเป็นภาษาแม่มากกว่า 200 ล้านคน จัดเป็นหนึ่งในไม่กี่ภาษาที่พูดทั่วโลก และเป็นภาษาที่มีคนพูดเป็นภาษาแม่มากเป็นอันดับ 6 ของโลกปัจจุบัน ก็เนื่องจากเจ้าชายเฮนรีนาวิกราชแห่งโปรตุเกสได้โรงเรียนราชนาวีขึ้นใน พ.ศ.1958 (ตรงกับสมัยพระเจ้าอยู่หัวสมเด็จพระนครินทราธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา) ที่แหลมซาเกรสให้เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้วิทยาการใหม่ๆ ในการเดินทะเล และเป็นแหล่งรวบรวมการสำรวจเส้นทางเดินเรือประกอบกับความรู้ในการใช้เข็มทิศ และเทคนิคการสร้างเรือขนาดใหญ่ที่สามารถต้านทานคลื่นลมได้ ทำให้นักเดินเรือของโปรตุเกสชื่อ วัชกู ดา กามา สามารถเดินทางโดยใช้เวลา 93 วันจากโปรตุเกสอ้อมทวีปแอฟริกาขึ้นฝั่งที่เมืองกาลิกัตของอินเดีย และสามารถซื้อเครื่องเทศจากอินเดียโดยตรงและนำกลับไปขายในยุโรปได้กำไรมากมาย 

แต่ในเวลาไล่เลี่ยกันคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ก็รับอาสากษัตริย์สเปนเดินทางสำรวจเส้นทางการเดินเรือไปประเทศจีน และค้นพบทวีปอเมริกาได้ในที่สุด ซึ่งทำให้สเปนได้ครอบครองดินแดนส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดของทวีปอเมริกาใต้ อเมริกากลาง และส่วนใหญ่ของดินแดนที่เป็นประเทศสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน

เวลานั้นเป็นเป็นระยะเวลาแห่งการเริ่มต้นแข่งขันในด้านเศรษฐกิจและอำนาจทางทะเลระหว่างสเปนกับโปรตุเกส ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาสัมพันธไมตรีของประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกต่อกัน พระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ประมุขแห่งศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก จึงให้สเปนและโปรตุเกสทำสนธิสัญญาตอร์เดซียัส กำหนดให้เส้นเมริเดียนที่ 370 ทางตะวันตกของหมู่เกาะกาบูเวร์ดี (เส้นเมริเดียนที่ 51 หรือเรียกว่าเส้นลองจิจูดหรือเดิมเรียกว่า เส้นแวง) ทางตะวันตกของกรีนิช เป็นเส้นสมมติที่แบ่งโลกออกเป็น 2 ส่วน โดยสเปนมีสิทธิในดินแดนทางด้านตะวันตกของเส้นเมริเดียนที่ 51 และโปรตุเกสได้สิทธิทางด้านตะวันออก

อาณาเขตที่เกิดจากการแบ่งเส้นสมมติดังกล่าวนำไปสู่การครอบครองทวีปอเมริกาใต้ของสเปนเกือบทั้งหมด ยกเว้นบราซิลให้ตกเป็นของโปรตุเกสตามข้อตกลงของสนธิสัญญานี้ และนำไปสู่การสร้างจักรวรรดิทางทะเลของโปรตุเกสในเอเชียและแอฟริกา 

เรื่องแบ่งโลกของพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ประมุขแห่งศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกก็เป็นเรื่องสยดสยองพอๆ กันกับเรื่องที่ชายชาวบราซิลหนีผึ้งลงน้ำแล้วถูกปลาปิรันยารุมทึ้งจนตายนั่นแหละเพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการค้าทาสที่ชาวแอฟริกันร่วม 10 ล้านคน ต้องถูกจับขายเป็นทาสพลัดพรากจากที่อยู่อาศัย ต้องถูกบังคับให้มาตรากตำทำงานหนักและตายลงในทวีปอเมริกานั่นเอง