ระบบกฎหมายในโลกนี้อาจแบ่งเป็น 2 ระบบใหญ่ คือ Common Law (กฎหมายจารีตประเพณี) และ Civil Law (กฎหมายที่ใช้ประมวลกฎหมาย) โดยระบบกฎหมายที่ใช้ประมวลกฎหมาย ส่วนมากกฎหมายจะบัญญัติขึ้นโดยรัฐสภา เช่น ประมวลกฎหมายแพ่ง ประมวลกฎหมายพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา เป็นต้น 

ประมวลกฎหมายจะมีการบัญญัติถึงหลักเกณฑ์ทั่วไปให้ครอบคลุมในเรื่องทั้งหมดที่บัญญัติไว้ โดยพยายามที่จะให้แนวทางที่จะแก้ปัญหาได้ทุกปัญหาอันอาจพึงเกิดขึ้นได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ระมัดระวังที่จะกล่าวไว้แต่หลักเกณฑ์ใหญ่ๆ ไม่กล่าวถึงรายละเอียดปลีกย่อย ประมวลกฎหมาย จึงเป็นการรวบรวมกฎหมายเรื่องเดียวกันหากแต่กระจัดกระจายกันอยู่ให้มาอยู่อย่างเป็นระบบ เป็นหมวดหมู่ และวางหลักเกณฑ์ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย มีข้อความอ้างอิง ยึดโยงถึงกันและกัน

ส่วนกฎหมายจารีตประเพณีพัฒนาขึ้นในประเทศอังกฤษ โดยศาลอังกฤษยุคต้นๆ จะเป็นผู้ชี้ว่าข้อพิพาทที่เกิดขึ้นนั้นตามหลักกฎหมายจารีตประเพณีของท้องถิ่นมีไว้ว่าอย่างไร หรือกรณีที่ไม่มีจารีตประเพณีเช่นนั้นศาลอังกฤษก็จะเป็นผู้วางหลักเกณฑ์ขึ้นมาเอง ระบบกฎหมายจารีตประเพณีจะให้ความสำคัญต่อหลักกฎหมายจากคำพิพากษาทั้งนี้เพราะระบบกฎหมายจารีตประเพณีอยู่ภายใต้หลักที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า เป็นระบบกฎหมายที่ศาลได้กำหนดขึ้น (Judge made law)

ดังนั้นนิติวิธีของระบบกฎหมายจารีตประเพณีจึงเป็นหลักที่ได้มาจากการเทียบเคียงหลักในคำพิพากษาของศาลที่เคยพิพากษามาก่อนหน้านี้ (Precedent) หลักการใช้กฎหมายระบบกฎหมายจารีตประเพณีจึงมักเป็นหลักเฉพาะเรื่องมาสู่หลักเกณฑ์ทั่วไป โดยการที่ศาลได้พิพากษาเป็นกรณีๆ นี้ ได้ทำให้มีหลักเกณฑ์ขึ้นคำพิพากษาของศาลจึงเป็นการจัดให้ถูกต้องทีละเล็กทีละน้อยและถือเป็นบรรทัดฐานที่ต้องเคารพนับถือคำพิพากษาจะต้องเคารพนับถือคำพิพากษานั้นๆ มากกว่าที่จะเป็นหลักทั่วไปที่เป็นระบบและเป็นเอกภาพแบบในระบบกฎหมายที่ใช้ประมวลกฎหมาย

คดีระหว่างโรกับเวด (Roe v. Wade), 410 U.S. 113 (1973) พิพากษามา 49 ปีที่แล้วเป็นคำวินิจฉัยที่เป็นหมุดหมายหลักของศาลฎีกาสหรัฐ โดยศาลฯ วินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญสหรัฐคุ้มครองเสรีภาพของหญิงมีครรภ์ในการเลือกทำแท้งได้โดยปราศจากข้อจำกัดของรัฐบาลเกินควร คำวินิจฉัยนี้ยกเลิกกฎหมายทำแท้งของหลายมลรัฐของสหรัฐ

คดีระหว่างโรกับเวดนี้เป็นชนวนให้เกิดการถกเถียงเรื่องการทำแท้งที่กำลังดำเนินอยู่ในสหรัฐว่าการทำแท้งควรชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือควรมีขอบเขตเพียงใด ผู้ใดควรตัดสินใจว่าการทำแท้งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และบทบาททางศีลธรรมและศาสนาในการเมืองควรเป็นอย่างไร

คำวินิจฉัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับคดีของนางนอร์มา แม็กคอร์วีย์ หรือที่ใช้นามแฝงทางกฎหมายว่า “เจน โร” ใน พ.ศ. 2512 เธอตั้งครรภ์บุตรคนที่ 3 โดยนางแม็กคอร์วีย์ต้องการทำแท้งแต่เนื่องจากเธอมีภูมิลำเนาอยู่ในมลรัฐเท็กซัส ซึ่งมีกฎหมายระบุว่าการทำแท้งไม่ชอบด้วยกฎหมายเว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อช่วยชีวิตมารดา

ทนายความของเธอ 2 คนคือ นางซาราห์ เว็ดดิงตันและนางสาวลินดา คอฟฟี ยื่นฟ้องคดีในนามของเธอในศาลกลางสหรัฐ ต่ออัยการเขตท้องถิ่น นายเฮนรี เวด โดยอ้างว่ากฎหมายทำแท้งของมลรัฐเท็กซัสไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ องค์คณะผู้พิพากษา 3 คนของศาลแขวงสหรัฐสำหรับแขวงเหนือของรัฐเท็กซัสไต่สวนคดีและวินิจฉัยให้โรชนะคดี จากนั้นมลรัฐเท็กซัสอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลสูงสุดสหรัฐ

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2516 ศาลฎีกาสหรัฐมีคำวินิจฉัย 7–2 ให้แม็กคอร์วีย์ชนะคดี โดยอ้างบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐที่ 14 ที่กำหนด “สิทธิภาวะเฉพาะส่วนตัว” ซึ่งคุ้มครองสิทธิของหญิงมีครรภ์ในการเลือกว่าจะทำแท้งหรือไม่ แต่ศาลฎีกาสหรัฐ ยังวินิจฉัยด้วยว่าสิทธินี้ไม่เด็ดขาด และต้องรักษาสมดุลกับผลประโยชน์ของรัฐบาลในการคุ้มครองสุขภาพสตรีและชีวิตของทารกในครรภ์

แต่ศาลฎีกาสหรัฐกำหนดให้ ระงับการทดสอบรักษาสมดุลนี้โดยผูกข้อบังคับของรัฐต่างๆ เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ไว้กับไตรมาสของการตั้งครรภ์ โดยในไตรมาสแรก รัฐบาลไม่อาจห้ามการทำแท้งได้โดยสิ้นเชิง ในไตรมาสที่สอง รัฐบาลอาจกำหนดข้อบังคับด้านสุขภาพที่สมเหตุสมผลได้ และระหว่างไตรมาสที่สาม รัฐอาจห้ามการทำแท้งได้โดยสิ้นเชิงตราบเท่าที่กฎหมายมีข้อยกเว้นสำหรับกรณีที่มีความจำเป็นในการช่วยชีวิตหรือสุขภาพของมารดา

ศาลฎีกาสหรัฐจำแนกสิทธิในการเลือกว่าจะทำแท้งหรือไม่เป็นสิทธิ “ขั้นพื้นฐาน” ซึ่งกำหนดให้ศาลต้องประเมินกฎหมายทำแท้งที่ถูกคัดค้านภายใต้มาตรฐาน “การพินิจอย่างเข้มงวด” (strict scrutiny)

คำวินิจฉัยของศาลฎีกาสหรัฐ ในคดีระหว่างโรกับเวดได้ถูกศาลฎีกาสหรัฐกลับมาทบทวนและแก้ไขคำวินิจฉัยทางกฎหมายของคดีระหว่างโรกับเวดในคำวินิจฉัยพ.ศ. 2535 ของคดีระหว่างสมาคมวางแผนครอบครัวกับนายเคซีย์

ศาลฎีกาสหรัฐยืนยันคำวินิจฉัยว่าสิทธิสตรีในการเลือกทำแท้งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แต่ยกเลิกกรอบไตรมาสในคดีระหว่างโรกับเวดแล้วให้ใช้มาตรฐานที่อาศัยการมีชีวิตของทารกในครรภ์แทน และกลับมาตรฐานการพินิจอย่างเข้มงวดสำหรับทบทวนข้อจำกัดด้านการทำแท้ง ทำให้บรรดามลรัฐหลายมลรัฐใช้ช่องว่างที่ไม่ต้องใช้มาตรฐานการพินิจอย่างเข้มงวดสำหรับทบทวนข้อจำกัดด้านการทำแท้งพากันออกกฎหมายจำกัดการทำแท้งถึงกว่า 20 มลรัฐ

วันจันทร์ที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมานี้ เว็บไซต์ Politico ตีพิมพ์ร่างความเห็นเสียงส่วนใหญ่ของผู้พิพากษาศาลฎีกาสหรัฐที่มีเนื้อความระบุว่า ศาลสูงจะคว่ำการพิพากษาของคดีระหว่างโรกับเวด ซึ่งยอมรับสิทธิของสตรีอเมริกันภายใต้รัฐธรรมนูญ ว่าด้วยสิทธิการจัดการการมีครรภ์ของพวกเธอเอง

ครับ! การที่กฎหมายสูงสุดที่บังคับใช้มาถึง 49 ปีจะถูกยกเลิกไปย่อมทำให้เกิดความสั่นสะเทือนในทางสังคมและการเมืองของสหรัฐอเมริกาอย่างแน่นอน โดยเฉพาะ ประธานาธิบดีโจ ไบเดนถึงกับประกาศว่า กล่าวว่า “สิทธิในการทำแท้งได้กลายเป็นกฎหมายไปแล้ว และสิ่งที่บัญญัติไว้นั้นได้ไปไกลกว่าการถกเถียงว่าสตรีอเมริกันมีสิทธิเลือกในเรื่องนี้หรือไม่แต่ได้รวมถึง สิทธิในการแต่งงาน (ของคนเพศเดียวกัน) ตลอดจนสิทธิในการตัดสินใจในอีกหลายเรื่อง”

ประธานาธิบดีโจไบเดน ยังประกาศอีกว่า

“จากนี้ไปจะเป็นหน้าที่ของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ที่จะเลือกผู้ที่สนับสนุนสิทธิในการเลือกทำแท้งให้เข้าไปนั่งในสภาในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทั้งในระดับประเทศที่จำเป็นต้องมี ส.ส. และ ส.ว. ที่สนับสนุนสิทธิของสตรีเข้าไปมากขึ้นเพื่อลงมติผ่านร่างกฎหมายสนับสนุนคดีระหว่างโรกับเวด ซึ่งตัวประธานาธิบดีไบเดนพร้อมที่จะลงนามในร่างกฎหมายนี้เพื่อให้ผ่านเป็นกฎหมายของสหรัฐโดยทันที”