ตลอด 6 สัปดาห์ ของการไต่สวน ซักฟอกพยาน และแสดงหลักฐานอย่างดุเดือด ในคดีฟ้องหมิ่นประมาทระหว่างนักแสดงชื่อดัง “จอห์นนี่ เดปป์” กับ “แอมเบอร์ เฮิร์ด” อดีตภรรยา ในที่สุดผลการตัดสินก็ออกมาว่า เฮิร์ดมีความผิดฐานหมิ่นประมาทเดปป์จริง และต้องชดใช้เงินให้กับเดปป์ทั้งหมด 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ​ หลังจากที่เธอเผยแพร่บทความคิดเห็นพิเศษ (Opposite Editorial หรือ op-ed) ที่ระบุว่าเธอคือ “เหยื่อความรุนแรงในครอบครัว” ระหว่างที่คบหากับเดปป์ 

หลังมีคำตัดสินออกมา เฮิร์ดก็ได้เคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดียของเธอ ระบุว่า นี่ไม่ใช่แค่ความพ่ายแพ้ของเธอเอง แต่มันคือความพ่ายแพ้ของผู้หญิงทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ผลการพิจารณาคดีดังกล่าวก็ทำให้เกิดเป็นคำถามว่าจะส่งผลกระทบต่อขบวนการ #MeToo หรือไม่ 

  • สรุปคดีความหยุดโลก “จอห์นนี เดปป์ vs แอมเบอร์ เฮิร์ด”
  • ชัยชนะของ “จอห์นนี่ เดปป์” หลังฟ้องหมิ่นประมาท “แอมเบอร์ เฮิร์ด”

บทความของเฮิร์ดและการฟ้องหมิ่นประมาท

เดปป์ตัดสินใจยิ่นฟ้องหมิ่นประมาทเฮิร์ด ในปี 2019 เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากที่เฮิร์ดเผยแพร่ op-ed ชื่อว่า “I spoke up against sexual violence – and faced our culture’s wrath. That has to change” ลงในหนังสือพิมพ์ The Washington Post เมื่อปี 2018 ขณะที่เฮิร์ดก็ฟ้องกลับในข้อหาเดียวกัน และเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2020 

ในบทความ op-ed ของเฮิร์ด แม้จะไม่มีการเอ่ยถึงชื่อของเดปป์ แต่ข้อความตอนหนึ่งในบทความก็ระบุว่า สองปีก่อนจะมีการเผยแพร่บทความนี้ เธอได้กลายเป็น “บุคคลสาธารณะผู้เป็นตัวแทนของการถูกทำร้ายในครอบครัว” ซึ่งทีมทนายความของเดปป์ก็ชี้ว่า บทความชิ้นนี้ได้ทำลายชื่อเสียงของเดปป์ และเดปป์คือ “เหยื่อ” ของเฮิร์ดทั้งทางร่างกายและจิตใจ 

ระหว่างขึ้นให้การ เดปป์ปฏิเสธว่าไม่เคยทำร้ายร่างกายเฮิร์ดเลย และอ้างว่าเฮิร์ดคือคนที่ใช้ความรุนแรงอยู่เสมอ เธอมักโมโห ดูถูกเหยียดหยามเขา และมักจะบานปลายไปสู่การใช้ความรุนแรง ซึ่งครั้งหนึ่งเฮิร์ดได้โยนขวดวอดก้าใส่เขา ส่งผลให้เขาได้รับบาดเจ็บที่นิ้วชี้ข้างขวาอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม เฮิร์ดได้ขึ้นให้การหลังจากนั้น ระบุว่าเดปป์ล่วงละเมิดทางเพศเธอด้วยขวดวอดก้าในคืนเดียวกัน พร้อมเล่าถึงเหตุการณ์ที่เธอถูกเขาทำร้ายอีกหลายครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นตอนที่เดปป์เมาเหล้าหรือเมายา 

คดีนี้ส่งผลกระทบขบวนการ #MeToo หรือไม่

บทความของเฮิร์ดถูกเผยแพร่ในช่วงที่ขบวนการ #MeToo กำลังถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายทั่วโลก ซึ่งทำให้หลายคนมองว่าเฮิร์ดใช้โอกาสนี้เพื่อเข้าร่วมขบวนการและสร้างความโด่งดังให้กับตัวเอง รวมถึงฉวยโอกาสป้ายสีความผิดให้กับเดปป์ ทั้งนี้ ขบวนการ #MeToo เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 2017 โดยสนับสนุนให้ผู้หญิงกล้าที่จะออกมาพูดถึงประสบการณ์ถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ และกล้าที่จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำ

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการพิจารณาคดีตลอด 6 สัปดาห์ที่มีการถ่ายทอดสดในช่องทางออนไลน์ มีการนำหลักฐานภาพถ่าย คลิปวิดีโอ คลิปเสียง รวมไปถึงพยานบุคคลจากฝั่งเดปป์และเฮิร์ดมาแสดงในชั้นศาล ซึ่งฝั่งเฮิร์ดถูกมองว่าไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนที่ระบุว่า เดปป์ได้ทำร้ายเธอเหมือนที่กล่าวอ้าง ก็ทำให้เกิดคำถามจากคนในสังคมว่าเฮิร์ดโกหกเรื่องการถูกทำร้ายจริงหรือเปล่า เช่นเดียวกับการตั้งคำถามกับคำพูดที่ว่าทุกคนควรเชื่อเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว และไม่จำเป็นต้องเชื่อในหลักฐาน ซึ่งทำให้เกิดการโจมตีขบวนการ #MeToo อย่างรุนแรง 

หลังจบการพิจารณาคดี เฮิร์ดก็ได้เผยแพร่แถลงการณ์ของเธอต่อการพิจารณาคดีดังกล่าว เผยว่าเธอรู้สึกผิดหวังกับคำตัดสิน แต่ผิดหวังยิ่งกว่าที่คำตัดสินในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้หญิงคนอื่น ๆ ด้วย โดยในตอนหนึ่งของแถลงการณ์ ระบุว่า “มันคือความพ่ายแพ้ มันคือการเดินถอยหลังกลับไปสู่ยุคที่เมื่อผู้หญิงออกมาพูดความจริง พวกเธออาจจะถูกทำให้อับอายขายหน้า” ซึ่งแถลงการณ์ของเฮิร์ดก็ยิ่งทำให้เกิดการโจมตีและตั้งคำถามต่อขบวนการ #MeToo มากขึ้นกว่าเดิม 

แม้จะมีเสียงโจมตีขบวนการ #MeToo แต่ทางทีมงาน #MeToo ก็ได้เผยแพร่แถลงการณ์ก่อนหน้าจะมีคำตัดสินออกมา ชี้ว่า คดีความนี้เป็นตัวอย่างของการใช้การเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองที่ผิดเพี้ยน และใช้เป็นเครื่องมือในการต่อต้านคนที่ควรได้รับความช่วยเหลือ เช่นเดียวกับนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางด้านเพศก็ระบุว่า นี่ไม่ใช่จุดจบของ #MeToo แต่เป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะสร้างความเข้าใจ และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างต่อระบบสังคมที่กดทับผู้หญิงอยู่ 

“เสรีภาพในการแสดงออก”

ข้อความตอนหนึ่งในแถลงการณ์ของเฮิร์ด หลังจากการตัดสินคดีความเสร็จสิ้น ระบุว่า “แต่ฉันก็ยิ่งเสียใจมากกว่าเดิม ที่ฉันดูจะสูญเสียสิทธิที่ฉันคิดว่าฉันมี ในฐานะประชาชนอเมริกัน ที่จะได้พูดอย่างอิสระและจริงใจ” 

ในช่วงพิจารณาดคีนั้น ทนายความของเฮิร์ดได้ระบุว่า เฮิร์ดเพียงแค่ใช้สิทธิ์ตามบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 (First Amendment Right) ในการพูดถึงประสบการณ์ของเธอ ซึ่งปรากฏอยู่ในบทความที่เธอเขียนขึ้นในปี 2018 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ทนายความของเดปป์ก็ตอบโต้ว่า เสรีภาพในการพูดหรือแสดงออกไม่ได้รวมถึงเรื่องโกหก ที่สร้างขึ้นเพื่อทำลายคนอื่น ยิ่งไปกว่านั้น คนในสังคมออนไลน์ก็วิพากษ์วิจารณ์เฮิร์ดว่าการกระทำของเธอก็ไม่เคารพในเสรีภาพการแสดงออกของคนอื่นเช่นกัน เนื่องจากเธออนุญาตให้คนที่ติดตามเธอบนทวิตเตอร์เท่านั้นที่จะสามารถตอบกลับโพสต์ของเธอได้

แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่เห็นว่า การพิจารณาคดีของเดปป์กับเฮิร์ดในครั้งนี้ ได้สร้างความหวาดกลัวให้กับเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว และทำให้พวกเขาไม่กล้าลุกขึ้นมาเอาผิดทางกฎหมายกับผู้กระทำ ทั้งยังเป็นการสนับสนุนคนทำผิดให้ปิดปากเหยื่อโดยใช้ระบบกฎหมายเป็นเครื่องมือ