โลกผวา! หากวิกฤตนิวเคลียร์สูงกว่าโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล 10 เท่า จะรุนแรงแค่ไหน

มาลองประเมินกันว่า ผลกระทบที่สูงกว่าวิกฤตเชอร์โนบิล 10 เท่า หากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียในยูเครนระเบิด จะรุนแรงขนาดไหน

หลังจากมีรายงานข่าวว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียในยูเครน ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ถูกไฟไหม้จากการโจมตีของกองทัพรัสเซีย ที่ล่าสุดได้รับการยืนยันว่าสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้แล้ว โดยที่ไม่มีกัมมันตรังสีรั่วไหล

  • ดับไฟได้แล้ว! โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยูเครนปลอดภัยไม่ระเบิด ไม่พบกัมมันตรังสีรั่วไหล
  • ระทึก! ไฟไหม้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในยูเครน หลังถูกกองทัพรัสเซียบุกโจมตี

อย่างไรก็ตาม ความน่าสะพรึงกลัวของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้หลายคนนึกถึง “วิกฤตเชอร์โนบิล” เพราะนายดมีโตร คูเลบา (Dmytro Kuleba) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยูเครน โพสต์ข้อความระบุว่า “กองทัพรัสเซียระดมยิงจากทุกทิศทุกทางเพื่อโจมตี โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป หากเกิดการระเบิดออกมาแล้ว จะใหญ่กว่า Chornobyl 10 เท่า! รัสเซียต้องหยุดยิงทันที และปล่อยให้นักดับเพลิงเข้าไปควบคุมสถานการณ์”

News พามาย้อนเหตุการณ์ภัยพิบัติ “เชอร์โนบิล” ที่เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 26 เมษายน 2529

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ตั้งอยู่ที่นิคมเชอร์โนบิล แคว้นเคียฟ ทางตอนเหนือของยูเครน ใกล้ชายแดนเบลารุส (ในขณะนั้นยูเครนและเบลารุสยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต) อุบัติเหตุที่เชอร์โนบิลเป็นอุบัติเหตุที่เกิดกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ในแง่ของค่าใช้จ่ายและชีวิต

อุบัติเหตุครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อวิศวกรทำการทดสอบการทำงานของระบบหล่อเย็น และระบบทำความเย็นฉุกเฉินของแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์ แต่การทดสอบระบบล่าช้ากว่ากำหนดจนต้องทำการทดสอบโดยวิศวกรกะกลางคืน จนเกิดแรงดันไอน้ำสูงขึ้นอย่างฉับพลัน แต่ระบบตัดการทำงานอัตโนมัติไม่ทำงาน ส่งผลให้เกิดความร้อนสูงขึ้นจนทำให้แกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 หลอมละลาย และเกิดระเบิดขึ้น

ผลจากการระเบิดทำให้เกิดขี้เถ้าปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีพวยพุ่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ปกคลุมทางตะวันตกของสหภาพโซเวียต ยุโรปตะวันออก ยุโรปตะวันตก ยุโรปเหนือ ทำให้ยูเครน เบลารุส และรัสเซีย ต้องอพยพประชากรเกือบ 350,000 คน ออกจากพื้นที่อย่างฉุกเฉิน

อุบัติเหตุครั้งนี้เป็น 1 ใน 2 ครั้งที่ได้รับการจัดความรุนแรงไว้ที่ระดับ 7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตามมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ ซึ่งเกิดอีกครั้งหนึ่งในภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิเมื่อปี 2554

มีผู้เสียชีวิตทันที 31 ราย จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยตรง ทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่เครื่องปฏิกรณ์และคนงานฉุกเฉิน แต่จากรายงานของ UNSCEAR แสดงการเสียชีวิต ณ ปี 2551 รวม 64 ราย ที่ยืนยันแล้วว่าเกิดจากรังสี ในขณะที่ Chernobyl Forum คาดการณ์ว่า ยอดเสียชีวิตอาจสูงถึง 4,000 รายในหมู่ผู้ที่สัมผัสกับรังสีระดับสูง (คนงานฉุกเฉิน 200,000 คน, ผู้อพยพ 116,000 คน และผู้อาศัย 270,000 คนที่อยู่ในพื้นที่ปนเปื้อนมากที่สุด) ตัวเลขนี้เป็นการประเมินยอดการเสียชีวิตทั้งหมด รวมคนงานฉุกเฉินที่เสียชีวิตประมาณ 50 ราย ไม่นานหลังจากอุบัติเหตุด้วยโรครังสีเฉียบพลัน เด็ก 9 รายที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ และที่คาดการณ์ในอนาคตไว้รวม 3,940 รายจากการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งและมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่เกิดจากรังสี โดยประเมินว่ามีผู้ได้รับผลกระทบจากการระเบิดโดยตรงมากกว่า 600,000 คน

ในปัจจุบัน ผู้คนประมาณ 5 ล้านคนยังคงต้องอาศัยอยู่ในบริเวณที่ระบุไว้ว่าปนเปื้อน ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) คาดว่า มีผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติเชอร์โนบิลมากกว่า 9,000 ราย โดยสงครามเพื่อต่อสู้กับการปนเปื้อนและป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียมากไปกว่านี้เกี่ยวข้องกับคนงานทั้งทหารและพลเรือนกว่า 500,000 คน และค่าใช้จ่ายประมาณ 18,000 ล้านรูเบิล

ทั้งนี้ การประเมินตัวเลขการสูญเสียชีวิตจากภัยพิบัติเชอร์โนบิลอย่างเป็นทางการนั้นค่อนข้างยาก เนื่องจากข้อจำกัดทางข้อมูลที่มีการเปิดเผยเพียงน้อยนิดและการประเมินระดับการปนเปื้อนกัมมันตรังสีทั้งการได้รับเข้าสู่ร่างกายและระดับกัมมันตรังสีในชั้นบรรยากาศนั้นยังไม่มีความแม่นยำอีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้นการประเมินระดับกัมมันตรังสีที่เข้าสู่ร่างกายนั้นประเมินได้จากการกินหรือการหายใจ ซึ่งทำให้การประเมินยากกว่าระดับกัมมันตรังสีในอากาศ อนุภาคของกัมมันตรังสีสามารถฝังอยู่ในปอดตลอดไป ซึ่งจะทำให้สุขภาพของผู้ที่ได้รับกัมมันตรังสีอยู่ในความเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของกรีนพีซระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งจากภัยพิบัติเชอร์โนบิลมีราวๆ 100,000 คน แม้ว่าโรคมะเร็งอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่นๆ มากกว่าการที่ร่างกายได้รับกัมมันตรังสี แต่จากการวิจัยพบว่า สาเหตุของโรคมะเร็งในคนเหล่านี้มาจากการแพร่กระจายของกัมมันตรังสีจากเชอร์โนบิล ทั้งนี้ ตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากปัจจุบันยังคงมีผู้คนอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของกัมมันตรังสี

ซึ่งข้อมูลที่น่าสนใจก็คือว่า ณ ขณะนี้ ยังมีเตาปฏิกรณ์อีก 10 เครื่องที่เป็นเตาชนิดเดียวกันกับเชอร์โนบิลเดินเครื่องอยู่ในรัสเซีย เช่น เลนินกราด สโมเลนสค์ ไปจนถึงคูร์ส

ดังนั้น เมื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียเกิดไฟไหม้จากการถูกทหารรัสเซียบุกโจมตี แล้ว รมว.ต่างประเทศยูเครน บอกว่า ผลกระทบหากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าวระเบิด จะส่งผลกระทบมากกว่ากรณีเชอร์โนบิลถึง 10 เท่า นั่นก็หมายความว่า ผู้คนนับสิบล้านอาจจะต้องเสี่ยงอยู่กับภาวะปนเปื้อน และอาจจะมีผู้เสียชีวิตนับหมื่นรายเลยทีเดียว

  • รู้จักโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเชีย ในยูเครน ที่รัสเซียบุกยึด