อุรุกวัย หรือชื่อทางการว่า สาธารณรัฐบูรพาอุรุกวัย เป็นประเทศเล็กๆ มีเนื้อที่ประมาณ 176,215 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทวีปอเมริกาใต้มีสัณฐานคล้ายกับลูกฟุตบอล มีอาณาเขตจรดประเทศบราซิลทางทิศเหนือ ส่วนทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ จรดประเทศอาร์เจนตินา และจรดมหาสมุทรแอตแลนติกใต้ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีประชากรประมาณ 3,518,552 โดยครึ่งหนึ่งของประชากรอาศัยอยู่ในเมืองหลวงและเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดคือ กรุงมอนเตวิเดโอ

อุรุกวัยเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของทวีปอเมริกาใต้ แต่เป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพที่สุดของทวีปอเมริกาใต้ นอกจากนี้อุรุกวัยยังมีทีมฟุตบอลระดับแนวหน้าของโลกมาโดยตลอดจากการครองแชมป์ฟุตบอลโอลิมปิก 2 สมัยและแชมป์ฟุตบอลโลก 2 สมัย และอุรุกวัยยังส่งออกนักฟุตบอลชาวอุรุกวัยไปประจำทีมท็อปทั้งในทวีปอเมริกาและทวีปยุโรป

นอกจากนี้อุรุกวัยยังเป็นประเทศแรกของโลกที่เปิดเสรีในการปลูก จำหน่ายและบริโภคกัญชาเป็นประเทศแรกของโลกอีกด้วย

ตลอดเวลา 154 ปีหลังจากชาวอุรุกวัยได้ต่อสู้จนได้เอกราชจากสเปนเมื่อปี 2373 นั้น อุรุกวัยก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการในรูปแบบต่างๆ จากทั้งภายในและภายนอกประเทศ จนในที่สุดชาวอุรุกวัยพากันลุกฮือขึ้นต่อสู้กับเผด็จการทหารจนกระทั่งได้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยขี้นมาเมื่อปี 2527

ต่อมาชาวอุรุกวัยได้เลือกตั้งนายโฮเซ มูฮิกาวัย 81 ปีผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี 2553 ประวัติของนายโฮเซ มูฮิกานั้น เขาเกิดเมื่อปี 2478 ในครอบครัวยากจน กำพร้าพ่อแต่เด็ก มีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น สมัยเป็นหนุ่มหัวรุนแรง เข้าร่วมกับกลุ่มการเมืองเป็นกองโจรติดอาวุธเพื่อโค่นล้มอำนาจรัฐ เคยถูกยิงจนเกือบเสียชีวิต ถูกจับ เคยแหกคุก เคยปล้นธนาคารเพื่อหาทุนต่อสู้ทางการเมือง

Ernesto Ryan/Getty Imageภาพถ่ายนายโฮเซ มูฮิกา อดีตประธานาธิบดีอุรุกวัย เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2563

ในที่สุดนายมูฮิกาถูกจับกุมและติดคุกนานถึง 12 ปี เคยถูกขังเดี่ยวเป็นเวลานานในระยะแรกเขาพยายายามอ่านตำราพีชคณิตและแคลคูลัสเพื่อให้คิดในระหว่างถูกขังเดี่ยว ต่อจากนั้นก็ไม่มีอะไรให้อ่านนานถึง 7 ปี ไม่ได้พูดคุยกับใคร จนเกือบเสียสติ จนกระทั่งถูกปล่อยตัวในปี 2528 เมื่ออุรุกวัยได้เป็นประชาธิปไตย นายมูฮิกาก็เข้าสู่วงการเมืองโดยเป็นสมาชิกแนวร่วมพรรคฝ่ายซ้าย ได้รับเลือกตั้ง เป็นรัฐมนตรี เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี (ตำแหน่งประธานาธิบดีของอุรุกวัยนั้นเป็นได้ครั้งละสมัยเดียวจะสมัครติดต่อกันไม่ได้) และชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีในปี 2553 ด้วยเสียงมากกว่าครึ่งประเทศ

ประเทศอุรุกวัยในสมัยที่นาบมูฮิกาเป็นประธานาธิบดีประสบความสำเร็จมากทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยเขาเลือกผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้าร่วมทีมบริหาร

เขามีนโยบายการเงินการคลังเป็นแบบอนุรักษนิยม เน้นเรื่องวินัยการเงินการคลังและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ สร้างแรงจูงใจให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับความรู้และทักษะของแรงงานในทุกระดับเพื่อรองรับการลงทุน เพื่อให้คนในประเทศได้ประโยชน์ มีงานทำและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ

ที่สำคัญกว่านั้นคือนโยบายด้านสังคม เช่น การศึกษา สาธารณสุข และระบบสวัสดิการสังคม เพื่อสร้างความมั่นคงในอาชีพให้กับประชาชน รวมถึงออกกฎหมายที่ล้ำยุคสมัยในช่วงนั้น เช่นเรื่องการอนุญาตให้สตรีทำแท้งได้ เรื่องกัญชาเสรี การให้มีการแต่งงานเพศเดียวกันได้

นายมูฮิกาผลักดันกฎหมายเหล่านี้จากความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมที่เขามี จนเป็นที่ยอมรับทั้งในและนอกประเทศและจากนโยบายที่เขาผลักดันและจากภาพลักษณ์ของเขาที่ถูกกล่าวขาน ว่าเป็นประธานาธิบดีที่จนที่สุดในโลกเนื่องจากเขาไม่อยู่บ้านประจำตำแหน่งประธานาธิบดี แต่อยู่บ้านเดิมเล็กๆ ของภรรยาของเขา ไม่ใช้รถประจำตำแหน่ง บริจาคเงินเดือนกว่า 90% เพื่อช่วยคนจน ทำให้นายมูฮิกาเป็นประธานาธิบดีในหัวใจของชาวอุรุกวัยจนทุกวันนี้แม้ว่าเขาจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งไปแล้วก็ตาม

ส่วนประธานาธิบดีอุรุกวัยอีกคนหนึ่งคือนายพล เกรโกริโอ คอนราโด อัลบาเรซ อดีตประธานาธิบดี ที่มีชีวิตคนสุดท้ายจากระบอบเผด็จการทหารของอุรุกวัย ผู้สั่งฆ่าคนไปกว่า 180 คนและสั่งจับประชาชนและเยาวชนกว่า 5,000 คน โดยเฉพาะพวกฝ่ายซ้ายโดยบางส่วนถูกสังหารและจำคุกนับสิบปี จากการที่กองทัพอุรุกวัยนำโดยนายพลอัลบาเรซได้ทำรัฐประหารปี 2516 แล้วก็ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี แต่ที่สุดแล้ว 12 ปีต่อมา กองทัพก็พ่ายแพ้ต่อพลังประชาชนในปี 2538 ต้องมีการเลือกตั้งขึ้น โดยประเทศอุรุกวัยกลับเป็นประชิปไตยเยาวชนฝ่ายซ้ายบางส่วนที่เคยถูกจับกุมคุมขังก็ได้เป็นรัฐบาลและประธานาธิบดี

PABLO PORCIUNCULA / AFPนายพล เกรกอริโอ อัลบาเรซ ผู้นำเผด็จการของอุรุกวัย ที่ครองตำแหน่งผู้นำประเทศเมื่อปี 2522-2528 เดินทางออกจากค่ายทหารเมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2550 ผู้นำเผด็จการรายนี้เสียชีวิตเมื่อปี 2559

แม้เหตุการณ์จะผ่านมาเกือบ 40 ปี คนที่เกี่ยวข้องกับรัฐประหารก็แก่มาก บางส่วนก็เสียชีวิตแล้ว แต่ประชาชนก็หาได้ปล่อยผ่านเหล่ากบฏที่ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยให้ลอยนวลไปได้ ปรากฎว่าชาวอุรุกวัยกว่า 50,000 คนรวมตัวกันเดินขบวน เรียกร้องให้มีการลงโทษผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐประหารถึงแม้ว่าเหล่าผู้คนที่ทำรัฐประหารจะผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่พวกตนเองโดยทั่วหน้าแล้วก็ตาม แต่ก็ได้มีการออกกฎหมายยกเลิกกฎหมายนิรโทษกรรมเสียก่อนแล้วจึงดำเนินคดีเอาผิดกับผู้ทำรัฐประหารได้ตามความเป็นจริง จนกระทั่งในปี 2522 นายพลอัลบาเรซในวัย 84 ปีถูกศาลยุติธรรมตัดสินจำคุก 25 ปี โทษฐานฆ่าคนกว่า 37 คนและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

ในปี 2559 เขาก็ได้เสียชีวิตขณะจำคุกด้วยอายุ 91 ปี ปิดฉากเผด็จการทหารแห่งอุรุกวัยไปในที่สุด