6 ปี เลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมียนมา ประชาธิปไตยโชนแสงก่อนถูกดับด้วยทหาร

การปกครองสุดขมขื่นภายใต้รัฐบาลทหารที่โหดเหี้ยมยาวนานหลายทศวรรษ เคยเกือบจะกลายเป็นแค่อดีตของเมียนมา หลังจากมีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2558 นับเป็นการเลือกตั้งที่เสรีครั้งแรกในรอบ 25 ปี

การเลือกตั้งครั้งดังกล่าว พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ที่มีนางออง ซาน ซู จี เป็นผู้นำ ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอย่างล้นหลาม จนกวาดที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรไปได้ถึง 255 ที่นั่ง จากทั้งหมดที่มาจากเลือกตั้ง 330 ที่นั่ง ส่วนสภาประชาชาติ ที่เป็นสภาสูง ก็กวาดไปถึง 135 ที่นั่งจาก 168 ที่นั่งที่เปิดให้เลือกตั้ง

แม้รัฐธรรมนูญเมียนมาที่ผ่านการลงประชามติเมื่อปี 2551 จะกำหนดไม่ให้ผู้ที่มีคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ที่ว่ากันว่าต้องการยับยั้งไม่ให้นางออง ซาน ซู จี เป็นผู้นำประเทศได้ แต่ก็มีการอนุมัติตำแหน่งใหม่ ให้ผู้นำพรรคเอ็นแอลดีรายนี้มีตำแหน่งระดับสูงในฐานะ “ที่ปรึกษาแห่งรัฐ” ในเวลาต่อมา

ความหวังว่าเมียนมาจะเข้าสู่ยุคใหม่ดึงดูดนักลงทุนจากประเทศต่างๆ ทำให้ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในปี 2558 เพิ่มมาอยู่ที่ 4,084 ล้านดอลลาร์ จากปีก่อนหน้าที่ 2,175 ล้านดอลลาร์ และเมื่อปี 2560 ตัวเลขนี้ก็พุ่งสูงทำลายสถิติเดิมที่ 4,804 ล้านดอลลาร์

ส่วนข้อมูลรายได้ต่อหัวของชาวเมียนมาจากธนาคารโลก ระบุว่า เมื่อปี 2559 หรือหลังจากการเลือกตั้ง 1 ปี อยู่ที่ 1,158 ดอลลาร์ (38,245 บาท) ต่อคนต่อปี และเมื่อปี 2562 ก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,477 ดอลลาร์ (48,781 บาท) ต่อคนต่อปี 

และแม้มีการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปี 2563 รัฐบาลเมียนมาภายใต้การนำของนางออง ซาน ซู จี ก็เผยว่าพลาดเป้าหมายการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของปีงบประมาณ 2562 ไปเพียง 2% เท่านั้น ที่ 5,700 ล้านดอลลาร์ (188,322 ล้านบาท) จากที่ตั้งไว้ 5,800 ล้านดอลลาร์ (191,626 ล้านบาท)

ความหวังดังกล่าวกลับพังทลายลง เมื่อทหารเมียนมารัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 หลังจากมีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 ที่พรรคเอ็นแอลดี แถลงว่าได้ที่นั่งรวมกัน 2 สภาถึง 396 ที่นั่ง เพิ่มจากเดิม 6 ที่นั่ง แต่กองทัพไม่ยอมรับ ทั้งยังจับตัวนางออง ซาน ซู จี และนายวิน มยิ่น ประธานาธิบดี ไปคุมขัง ขณะเดียวกันประชาชนก็ออกมาต่อต้านรัฐประหารครั้งนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองในเมียนมามีความไม่แน่นอนจนถึงขณะนี้ และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

การไร้เสถียรภาพดังกล่าวส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ไม่แน่ใจถึงอนาคตในการค้าขายในประเทศนี้ จนหลายรายประกาศถอนการลงทุน อย่างเช่น เทเลนอร์ บริษัทโทรคมนาคมจากนอร์เวย์ ที่ขายกิจการให้แก่ เอ็มวัน กรุ๊ป เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกคว่ำบาตรจากสหภาพยุโรป

จากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่าความขัดแย้งภายในเมียนมาจะพัฒนาไปในทางใดต่อ และกองทัพเมียนมาจะคืนอนาคตของประเทศให้มีการเลือกตั้งตามที่สัญญาในปี 2566 จริงหรือไม่