WHO เตือน! มาตรการสกัดโอมิครอนแบบเหวี่ยงแห เสี่ยงเจอปิดข้อมูลในอนาคต

องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่า การใช้มาตรการห้ามเดินทางเข้าประเทศแบบเหวี่ยงแหเพื่อสกัดโควิดสายพันธุ์โอมิครอน อาจทำให้เกิดการปกปิดข้อมูลในอนาคต

เจนีวา, 1 ธ.ค. (ซินหัว) — เมื่อวันอังคาร (30 พ.ย.) องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่า คำสั่งห้ามเดินทางแบบสาดกระจายแบบเหวี่ยงแหจะไม่ช่วยป้องกันการระบาดระหว่างประเทศของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด 19) ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์โอมิครอน แม้หลายสิบประเทศประกาศใช้มาตรการดังกล่าวแล้วก็ตาม

แม้กำหนดให้เชื้อไวรัสโคควิดสายพันธุ์โอมิครอน เป็น “สายพันธุ์ที่น่ากังวล” แต่องค์การอนามัยโลกชี้ว่า คำสั่งห้ามเดินทางแบบเหวี่ยงแห (Blanket Travel Bans) จะสร้างภาระอันหนักหน่วงต่อชีวิตและการดำรงชีวิตของผู้คน ทั้งยังทำให้หลายประเทศไม่มีแรงจูงใจรวมทั้งขาดความกระตือรือร้นในการรายงานและแบ่งปันข้อมูลด้านระบาดวิทยาและการลำดับทางพันธุกรรมของเชื้อไวรัส

WHO ได้รับรายงานการตรวจพบโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนครั้งแรกจากแอฟริกาใต้เมื่อสัปดาห์ก่อน และขณะนี้หลายประเทศในหลายภูมิภาคต่างยืนยันการตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งทำให้หลายสิบประเทศเริ่มดำเนินมาตรการจำกัดการเดินทางที่เข้มงวดยิ่งขึ้น แม้กระทั่งการระงับเที่ยวบิน

ขณะที่ ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO กล่าวขอบคุณบอตสวานาและแอฟริกาใต้ที่รายงานการตรวจพบสายพันธุ์โอมิครอนอย่างรวดเร็ว ระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลกเกี่ยวกับสายพันธุ์โอมิครอนเมื่อวันอังคาร (30 พ.ย.) พร้อมแสดงความกังวลที่ประเทศเหล่านี้กำลังถูกประเทศอื่นลงโทษเพราะทำในสิ่งที่ถูกต้อง

กีบรีเยซุสเรียก “มาตรการที่สาดกระจายและไม่เหมาะสม” ที่เสนอโดยประเทศสมาชิกบางประเทศว่า “ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักฐานหรือมีประสิทธิภาพ” พร้อมเรียกร้องประเทศต่างๆ ใช้ “มาตรการลดความเสี่ยงอย่างเป็นสัดส่วนและสมเหตุสมผลตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR)”

ขณะเดียวกันองค์การอนามัยโลกแนะนำว่า “ผู้ที่รู้สึกไม่สบายหรือมีความเสี่ยงเป็นโรคโควิด-19 อาการรุนแรงและกำลังจะเสียชีวิต รวมถึงผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือผู้มีโรคประจำตัว อาทิ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน” ควรเลื่อนแผนการเดินทางออกไปก่อน

อย่างไรก็ตาม WHO ระบุในคำแนะนำการเดินทางฉบับแก้ไขว่า “มีการคาดการณ์ถึงแนวโน้มที่ว่าจะมีหลายประเทศที่ตรวจสอบไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลของประเทศต่างๆ เริ่มยกระดับการเฝ้าระวังและการตรวจหาลำดับพันธุกรรมของไวรัส” พร้อมกับอัปเดตข้อมูลจนถึง ณ วันที่ 28 พ.ย. ว่ามี 56 ประเทศที่ใช้มาตรการควบคุมการเดินทางเพื่อสกัดไม่ให้ไวรัสโอมิครอนเข้ามาระบาดในประเทศ